ความอิจฉาในเมืองไทยนั้นรุนแรงนัก

“ข้าพเจ้าได้ทูลเสด็จพ่อในเรื่องนี้ว่าคิดจะลองทำ at-home day ดูก่อนในระหว่างเพื่อนผู้หญิง 2-3 คน ถ้าเขาเห็นด้วยก็จะช่วยกันทำต่อไป….เสด็จพ่อทรงเข้าพระทัยและเห็นด้วยว่าดีแต่ท่านตรัสบอกข้าพเจ้าว่า “พ่อยอมรับว่าความคิดดีและเธอก็สามารถทำได้จริง แต่พอจะบอกให้แต่เดี๋ยวนี้ว่า – ไม่สำเร็จดอกลูก!….ความอิจฉาในเมืองไทยรุนแรงนักและเธอไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้นำ”   จากหนังสือ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” โดย ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล (เสด็จพ่อฯ ในหนังสือของท่านหญิงพูนคือ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ” พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย) 

หนังสือ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” นั้น ม.จ.พูนพิศมัย ทรงนิพนธ์ขึ้นจากความทรงจำในช่วงรอยต่อยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 จนถึงเวลานี้เป็นเวลากว่า 8 ทศวรรษ ความอิจฉาในเมืองไทยก็ยังคงรุนแรง เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และในบางครั้งเราไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า การมี การได้มา หรือ การได้รับซึ่งอำนาจวาสนาของเรานั้น กลับกลายเป็นหนามทิ่มตำใจ ให้อีกหลายคนมีความรู้สึกอิจฉา ริษยา 

ความอิจฉาที่ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย อาจมีเปลี่ยนรูปแบบบ้างในปัจจุบัน คุณจะได้เจอถ้าคุณบังเอิญได้มีอำนาจวาสนา หรือ ได้มาซึ่งโอกาสที่หลายคนหมายปอง แต่ดันพลาดหวัง ความอิจฉาในปัจจุบันนี้จะไม่ได้แสดงออกด้วยการใส่ร้ายป้ายสีแต่เพียงอย่างเดียว แต่โลกที่เปลี่ยนจากการสื่อสารที่มีเครื่องมือให้ใช้มากขึ้น ก็จะมีการสร้างความเชื่อให้เกิดความเกลียดชัง ชนิดที่ผู้ถูกกระทำจากการอิจฉา อาจสงสัยอย่างเหนื่อยใจว่า เราไปสร้างกรรมให้กับพวกเขาตั้งแต่เมื่อไร 

หลายคนอาจจะบอกว่าไม่ได้อิจฉา แต่หมั่นไส้ หากความหมั่นไส้นั้นคือบทเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความอิจฉาริษยา เพราะความหมั่นไส้ ที่เห็นคนอื่นได้ดีกว่า เห็นคนอื่นประสบความสำเร็จมากกว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ดูขวางหูขวางตาไปหมด สุดท้ายก็จะพัฒนาไปด้วยการหาพวกพ้อง ให้พากันมาร่วมหมั่นไส้ และ จบลงด้วยการรวมหัวกันใส่ร้ายป้ายสี เพื่อให้ผู้ที่เป็นเป้าหมาย มัวหมองและหลุดร่วงมาจากอำนาจวาสนา ที่ได้รับ 

เรื่องแบบนี้มีอยู่จริง และ มีมานานมากแล้ว หลายคนอาจเคยประสบพบเจอกับตัวเอง มีคำถามว่าแล้วจะแก้ไขอย่างไร ให้มันดีขึ้น คำตอบคือ ไม่มีหนทาง เพราะความรู้สึกอิจฉา นั้นเป็นจริตของคน ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นคนในประเทศอื่นๆก็เป็นกัน เพียงแต่สังคมเราอาจจะเห็นชัดเจนมากหน่อย ไม่อย่างนั้นหลวงวิจิตรวาทการ ท่านคงไม่แต่งกลอนเอาไว้ว่า “จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” 

เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ลองเลือกเอาแล้วกันว่า ถ้าคุณต้องเจอกับแรงอิจฉา คุณจะจัดการอย่างไร นิ่งเฉยอย่างไม่สะทกสะท้าน หรือ ลดความโดดเด่นลงมา เพื่อให้แรงอิจฉานั้นลดลง 

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ