บัตรทอง30 บาทสิทธิสำคัญที่ทำให้คนป่วยไม่ล้มละลาย

หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้าเราเจ็บป่วยแล้วต้องได้รับการรักษาพยาบาลขึ้นมาเราสามารถใช้สิทธิอะไรได้บ้าง ในฐานะประชาชนที่ไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพของเอกชน เก็บเอาไว้ คำตอบที่ได้จะไล่เรียงดังนี้ 

ถ้าคุณเป็นข้าราชการคุณได้สิทธิรักษาพยาบาลตามที่กรมบัญชีกลางกำหนด ถ้าคุณเป็นคนทำงานคุณจะได้สิทธิรักษาพยาบาลจากประกันสังคม และถ้าคุณไม่ได้เป็นทั้งข้าราชการ ไม่ได้เป็นคนทำงานคุณจะได้อยู่ภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือที่คุ้นกันดีในชื่อบัตรทอง 30 บาท ซึ่งในปัจจุบันไม่ต้องแสดงบัตรทองแล้วเพราะฐานข้อมูลจะอยู่ในฐานข้อมูลเดียวกับบัตรประชาชน 

โดยทั้งสามสิทธินี้คือหนึ่งสิทธิต่อหนึ่งประเภทเท่านั้น ถ้าคุณเป็นข้าราชการมีสวัสดิการรักษาพยาบาลอยู่แล้วคุณไม่มีสิทธิใช้บัตรทอง ถ้าคุณเป็นพนักงานลูกจ้างประจำที่มีประกันสังคมคุณก็ไม่มีสิทธิใช้บัตรทอง และถ้าคุณไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลจากที่ไหนเลย หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือสิทธิที่คุณพึงมีในฐานะประชาชนชาวไทย และ ได้รับการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ในปัจจุบัน 

จากสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยที่ในอดีตเข้าไม่ถึงการรักษาเพราะทุนทรัพย์ไม่พอ มีโอกาสที่จะเข้าถึงการรักษามากขึ้น และ ทำให้ผู้ป่วยรวมไปถึงครอบครัวผู้ป่วยไม่ต้องล้มละลายเพราะการเข้ารักษาพยาบาล 

ทีนี้มาดูกันว่าบัตรทอง ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นคุ้มครอง และ ไม่คุ้มครองการรักษาพยาบาลในลักษณะไหนบ้าง 

ส่วนที่คุ้มครองค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุข มีดังนี้

1.การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค  

2. การตรวจ การวินิจฉัย การรักษา ตั้งแต่โรคทั่วไป เช่น ไข้หวัดจนถึงการรักษาโรคเรื้อรัง โรคเฉพาะทางที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ เอดส์ วัณโรค ฯลฯ รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์  

3.การคลอดบุตร ใช้สิทธิได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

4.บริการทันตกรรม ได้แก่ อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน การให้ฟลูออไรด์ เสริมในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฟันผุ การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม การเคลือบหลุมร่องฟัน ผ่าฟันคุด ใส่เพดานเทียมเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ และการทำฟันปลอมฐานพลาสติก  

5.ค่ายาและเวชภัณฑ์ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติและยาที่มีค่าใช้จ่ายสูงตามประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  

6.ค่าอาหารและค่าห้องสามัญระหว่างพักรักษาตัว ณ หน่วยบริการ

7.การจัดการส่งต่อเพื่อการรักษาระหว่างหน่วยบริการ

8.บริการแพทย์แผนไทตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ได้แก่ ยาสมุนไพรหรือยาแผนไทย การนวดเพื่อการรักษาและทับหม้อเกลือฟื้นฟูสุขภาพแม่หลังคลอด การอบหรือประคบสมุนไพรเพื่อการรักษา

9.บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ให้แก่คนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู เช่น กายภาพบำบัด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูการได้ยิน ฟื้นฟูการมองเห็นและรับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการได้ตามเกณฑ์ที่สปสช.กำหนด

ส่วนที่ไม่ได้รับการคุ้มครองในการรับบริการสาธารณสุข 

1.การรักษาภาวะมีบุตรยาก / การผสมเทียม

2.การแปลงเพศ / การกระทำใดๆเพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์  

3.การตรวจวินิจฉัยและรักษาใดๆ ที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์  

4.การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง

5.การบาดเจ็บจากการประสบภัยจากรถซึ่งอยู่ในความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ  เฉพาะส่วนที่บริษัทหรือกองทุนตามกฎหมายนั้นต้องเป็นผู้จ่าย  

6.การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยสารเสพติด ยกเว้นบางกรณีตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  

7.โรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทผู้ป่วยในเกินกว่า 180 วัน ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

8.การปลูกถ่ายอวัยวะยกเว้นบางกรณี ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น การปลูกถ่ายไตเพื่อรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การปลูกถ่ายตับในเด็กที่อายุไม่เกิน 18 ปีที่เป็นโรคท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด

ภาพประกอบจากเว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th