ในปี 2556 เมื่อทาง กสทช เปิดให้มีการประมูลทีวีดิจิทัล นั้นวงการโทรทัศน์ในเมืองไทย แสนจะคึกคักยิ่ง มีการซื้อตัวบุคลากรข้ามช่อง ออกข่าวกันได้ไม่เว้นวัน แต่พอหมดช่วงฮันนีมูน ในช่วงปีแรก ผู้ประกอบการต่างหน้าแห้งกันเป็นแถว เพราะเม็ดเงินโฆษณานั้นมีจำนวนเท่าเดิม แต่เพิ่มเติมคือผู้ที่เข้ามาร่วมหาร ส่งผลให้ราคาโฆษณาโทรทัศน์ในเมืองไทยยุคทีวีดิจิทัลนั้นหล่นวูบ จนน่าตกใจ และยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อมีผู้ประกอบการบางรายไม่ยอมจ่ายค่าใบอนุญาต แต่ก็ได้รับความคุ้มครองจากศาล
สุดท้ายแล้ว กิจการทีวีดิจิทัล ก็กลายเป็นการขายฝันให้นักลงทุน จนท้ายที่สุด ทางกสทช.ก็ต้องผ่าทางตันด้วยการใช้ ม.44 เพื่อให้ทางผู้ประกอบการคืนช่องพร้อมรับการเยียวยา แต่เพียงแค่คืนช่อง จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่เหลืออยู่ รอดหรือไม่นั้นคงต้องรอดูกันต่อไป และบรรทัดต่อจากนี้คือลำดับเหตุการณ์จากวันแรกจนถึงวันคืนช่องของ ทีวีดิจิทัล
2 ตุลาคม 2555
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท.ได้บรรลุหลักเกณฑืในการจัดการบริหารช่องและคลื่นความถี่โดยมีมติ อนุมัติช่องรายการดิจิทัลทีวีทั้งหมด 60 ช่อง แบ่งเป็น บริการสาธารณะ 12 ช่อง บริการชุมชน12 ช่อง บริการธุรกิจ 36 ช่อง แบ่งเป็น รายการเด็กและเยาวชน (ความละเอียดปกติ) 5 ช่อง รายการข่าวสารและสารประโยชน์ (ความละเอียดปกติ) 5 ช่อง รายการทั่วไป ความละเอียดปกติ 10 ช่อง รายการทั่วไป ความคมชัดสูง 4 ช่อง
แต่ภายหลังได้มีการปรับลดจำนวนช่องลงเพื่อความเหมาะสม ได้มีการปรับเปลี่ยนช่องรายการดิจิทัลทั้งหมด 48 ช่อง แบ่งเป็นบริการสาธารณะ 12 ช่อง โดยที่ กองทัพบก ไทยพีบีเอส และ กรมประชาสัมพันธ์ ได้รับช่องในการออกอากาศไปแล้ว 4 ช่อง บริการชุมชน 12 ช่อง จะเริ่มจัดสรรใบอนุญาตในการดำเนินการ พ.ศ. 2558 บริการธุรกิจ 24 ช่อง แบ่งเป็น รายการเด็กและเยาวชน (ความละเอียดปกติ) 3 ช่อง รายการข่าวสารและสารประโยชน์ (ความละเอียดปกติ) 7 ช่อง
รายการทั่วไป ความละเอียดปกติ 7 ช่อง รายการทั่วไป ความคมชัดสูง 7 ช่อง
10 – 12 กันยายน 2556
กสทช. ได้เริ่มจำหน่ายซองเอกสารเงื่อนไขการประมูลช่องเพื่อเตรียมความพร้อมในการประมูลที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2556 โดย กสทช. ได้ขายซองประมูลให้กับภาคเอกชนไป 49 ซอง 49 ช่อง 33 บริษัท
26 ธันวาคม 2556
กสทช เปิดประมูล 2 ประเภท คือช่องรายการทั่วไป ความคมชัดสูง และช่องรายการทั่วไป ความคมชัดปกติ และในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เปิดประมูลอีกสองประเภท คือช่องข่าวสารและสารประโยชน์ และช่องเด็กและเยาวชน
ซึ่งกระประมูลในวันนั้น ทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศกว่า 50,862
22 พฤษภาคม 2557
เวลา 16:30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศรัฐประหาร ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เวลา 17:00 น. คสช. สั่งให้กำลังทหารเข้าควบคุมอุปกรณ์รวมส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลทั้ง 5 โครงข่าย อันเป็นผลให้โทรทัศน์ระบบดิจิทัลทั้ง 28 ช่อง รวมถึงช่อง GMM25 และช่องอมรินทร์ทีวี ซึ่งมีกำหนดเริ่มแพร่ภาพในวันที่ 23 พฤษภาคม ต้องระงับการออกอากาศลง เพื่อถ่ายทอดสัญญาณ จากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก
24 พฤษภาคม 2557
คสช. ยกเว้นประกาศฉบับที่ 14/2557 และ 18/2557 แก่ช่องโทรทัศน์ระบบดิจิทัลทั้งหมดโดยอนุโลม จึงสามารถกลับมาออกอากาศตามปกติอีกครั้ง ยกเว้นวอยซ์ทีวี ที่ยังคงให้ระงับการออกอากาศ ตามประกาศฉบับที่ 15/2557 ต่อไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง อันเนื่องมาจากมีรายการวิเคราะห์การเมือง ที่มีการเชิญนักวิชาการ อนึ่ง ทุกช่องจะแสดงภาพสัญลักษณ์ที่ คสช.กำหนด ไว้ที่หน้าจอมุมบนทางขวามือของผู้ชม เพื่อเป็นเครื่องยืนยันการอนุโลมให้ออกอากาศ หลังจากที่ คสช.กระทำรัฐประหาร
8 มิถุนายน 2557
เวลา 19:15 น. ทุกช่องเริ่มทยอยนำตราเครื่องหมาย คสช. ออกจากมุมขวาบนของหน้าจอ ตามการขอความร่วมมือ และประกาศจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (มีเพียงช่องพีพีทีวีที่แสดงอยู่มุมซ้ายบน) หลังจากได้รับอนุญาตแล้วอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง
25 พฤษภาคม 2558
ไทยทีวี และ โลก้า 2 ช่อง ของบริษัท ไทยทีวี จำกัด ไม่สามารถจ่ายค่าประมูลที่ 2 ไว้หลังการออกอากาศ ศาลปกครอง มีคำสั่ง ยุติการออกอากาศ ช่อง ไทยทีวี และ โลก้า เป็นระยะเวลา 3 เดือน ถึง 31 ตุลาคม 2558 เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป
31 ตุลาคม 2558
ไทยทีวี และ โลก้า 2 ช่อง ของบริษัท ไทยทีวี จำกัด ไม่สามารถจ่ายค่าประมูลที่ 2 ไว้หลังออกอากาศทีวีดิจิตอล จนทาง กสทช. ยึดใบอนุญาต 2 ช่อง เป็นระยะเวลา 30 วันหลังศาลปกครอง จนยุติออกอากาศในวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม 2558 ตั้งแต่เวลา 00.00 ของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป ช่องไทยทีวี ขณะฉายสารคดี ตัดสัญญาณจากซอยลาดพร้าว 101 และช่องโลก้า ขณะฉายภาพยนตร์จีน ตัดสัญญาณจาก ไทยพีบีเอส ถือเป็นยุติออกอากาศทั้ง 2 ช่องอย่างไม่มีกำหนด
13 มีนาคม 2561
ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้ ไม่รับคำอุทธรณ์ของ กสทช. กรณีไม่ทำตามปฏิบัติหน้าที่อย่างละเลยและไม่รับผิดชอบในการเรื่องคืนค่าธรรมเนียมช่องทีวีดิจิตอล จึงเป็นเหตุให้ บริษัท ไทยทีวี จำกัด ชนะคดีเรื่องละทิ้งใบอนุญาต และได้รับแบงก์การันตีทั้งหมดคืน เพราะสถานีมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาใบอนุญาตโทรทัศน์ระบบดิจิตอลโดยไม่ต้องชำระค่าประมูลทั้งหมดก่อนบอกเลิกได้
30 พฤศจิกายน 2561
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้กล่าวภายในงานสัมนา “5G Disruption ระลอก 2 IoT พลิกโฉมธุรกิจการเงิน” ว่า กสทช.ได้จัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการเรียกคลื่นความถี่ในย่าน 700MHz ซึ่งเป็นคลื่นที่กสทช.ได้จัดประมูลใบอนุญาตให้กับผู้ให้บริการทีวีดิจิทัล โดยจะนำมาจัดสรรและประมูลเพื่อใช้งานในกิจการโทรคมนาคม พร้อมการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลให้ไปใช้คลื่นความถี่ในย่านอื่นแทน โดยกสมช.มองว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ค้างคาในกิจการทีวีดิจิทัลอย่างยั่งยืนต่อไป โดยที่ประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้
17 เมษายน 2562
สำนักงาน กสทช. ได้เชิญผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม ผู้ให้บริหารโครงข่ายฯ และ สื่อมวลชน เข้าร่วมประชุมเพื่อทำความเข้าใจคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2562 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคม ซึ่งทางกสทช ได้แจ้งในที่ประชุมว่า ให้ผู้ที่จะขอคืนใบอนุญาตมายื่นความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตตาม ม.44 ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562
2 พฤษภาคม 2562
กสทช. ได้ออกประกาศสำนักงาน เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชย จากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลแล้วจึงทำให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลมีข้อมูลในการตัดสินใจยื่นขอใบอนุญาตดังกล่าว
10 พฤษภาคม 2562
ผู้ประกอบการกิจการทีวีดิจิทัลยื่นหนังสือขอคืนใบอนุญาตจำนวนทั้งสิ้น 7 ช่อง ประกอบด้วย MCOT Family (ช่อง 14) Spring News (ช่อง 19) Spring (ช่อง 26) Voice TV (ช่อง 21) ช่อง 3SD (ช่อง28 ) 3 FAMILY (ช่อง 13) และไบร์ททีวี(ช่อง 20 )