6 ปีแล้วที่ ทีวีดิจิทัล ออกอากาศมาให้คนไทยได้รับชมเป็น6 ปีที่เรียกว่าลุ่มๆดอนๆของทั้ง 27 ช่อง เพราะไม่เพียงแต่ความพยายามในการแย่งชิง เม็ดเงินโฆษณา แต่ความพยายามที่จะแย่งชิง Content กลับทำให้เพิ่มก็แต่ปริมาณของรายการประเภทเดียวกันที่มีรูปแบบเหมือนกันในหลายช่อง ยิ่งในยุคสมัยที่ รูปแบบการรับชม ที่มีมากกว่าโทรทัศน์ทำให้ เม็ดเงินโฆษณาในตลาดที่ว่ากันว่าเคยเป็นของโทรทัศน์ นั้นถูกกระจายไปหาสื่อออนไลน์ ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีหลัง ถึงขนาดที่ Youtuber หลายคนกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการตลาด พอๆกับดารานักแสดงไปแล้ว
วันนี้วงการโทรทัศน์ไทยกำลังจะเปลี่ยนไปอีกครั้งเมื่อ กสทช ประกาศให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้และจะได้รับเงินชดเชย เมื่อมาถึงจุดนี้หลายคนบอกว่า คนทำทีวีจะตกงานกันระนาว ทีวีจะมีคนดูน้อยลงเรื่อยๆ เสียงคาดเดาในทางลบ เริ่มแผ่ในวงกว้างคนทำงานโทรทัศน์จะไม่มีพื้นที่ให้ยืนแล้วหรือ เมื่อเป็นเช่นนี้Tonkit360 จะพาคุณไปหาคำตอบจากผู้มากประสบการณ์ อย่าง ดร. ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม(ประเทศไทย) อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด ( มหาชน ) และอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวไทย มาดูกันว่ามุมมองของ ดร.นิพนธ์ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการโทรทัศน์มากว่า 50 ปี จะพูดถึงสถานการณ์ในเวลานี้ว่าอย่างไร
“ถึงวันนี้แล้ว เด็กที่เกิดมาพร้อมเทคโนโลยี แทบจะไม่ได้ให้ความสนใจในการรับชมโทรทัศน์อีกต่อไป และ กลุ่มผู้ชมที่หันไปหาแพลทฟอร์มแบบอื่นที่สะดวกกว่านั่งดูโทรทัศน์”
“ทีวีดิจิทัลเดินทางมาถึงวันนี้ได้ด้วยสองเหตุผลสำคัญ คือ 1.ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี 2.การคาดเดาที่ผิดพลาดทางด้านพฤติกรรมของคนไทย และ สภาพเศรษฐกิจ อย่างข้อแรกเรื่องความเข้าใจทางด้านเทคโนโลยี นั้นต้องเอาให้ชัดเจนก่อนว่าทีวีดิจิทัล นั้นมีข้อจำกัดในการรับสัญญาน คุณจะเห็นว่าบางบ้าน รับบางช่องได้ บางบ้านรับบางช่องไม่ได้ จนถึงวันนี้ 6 ปีแล้วสัญญาณก็ยังไม่คงที่ ถ้าเปรียบเทียบให้ฟังแบบเห็นภาพ ก็ต้องบอกว่า ระบบอนาลอค แบบเดิมนั้นเหมือนเอาหมึกหยดลงไปบนกระดาษทิชชู่ แล้วน้ำหมึกจะแผ่ออก แต่สำหรับระบบ ดิจิทัล นั้นเหมือนหยดหมึกลงบนใบบัวแล้วน้ำหมึกกลิ้งไปมา”
“อันที่จริงแล้วก่อนหน้าจะมีการประมูลนั้น เมืองไทยมีทีวีดาวเทียม ซึ่งก็ส่งภาพในระบบดิจิทัลอยู่แล้ว การเปิดการประมูลของกสทช. นั้นช้ากว่าที่ควรจะเป็น แต่ ผู้ประกอบการก็มองว่าการได้เป็นเจ้าของช่อง หรือ เป็นเจ้าของสื่อ ดีกว่าไปเช่าเวลาและมีศักดิ์ศรีเป็นฟรีทีวีเช่นกัน ขณะที่ยังมองอีกว่า เม็ดเงินในวงการโฆษณา ยังเหลือให้แบ่งเค้ก อยู่อีกมากซึ่งในความจริงไม่เป็นเช่นนั้น”
” เมื่อเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกันเม็ดเงินโฆษณา ก็ยังคงอยู่กับช่องหลัก ที่สามารถทำเรตติ้งได้อยู่ในระดับท้อป 5 เท่านั้น ขณะที่พฤติกรรมของคนไทย ก็ปรับตัวตามเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ถึงวันนี้แล้ว เด็กที่เกิดมาพร้อมเทคโนโลยี แทบจะไม่ได้ให้ความสนใจในการรับชมโทรทัศน์อีกต่อไป และ พวกเขาที่หันไปหาแพลทฟอร์มแบบอื่นที่สะดวกกว่านั่งดูโทรทัศน์ สามารถดูรายการที่ชื่นชอบ ได้ทุกที่ทุกเวลา กลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญ ที่ทำให้เม็ดเงินโฆษณาถูกแบ่งไปอีก”
“โอกาสที่จะถึงจุดคุ้มทุนได้เท่ากับ “ศูนย์” พอถึงวันนี้ผู้ประกอบการก็ต้องมองความเป็นจริงว่าจะเดินหน้าต่อหรือ จะหยุดเพื่อห้ามเลือดตัวเอง”
นอกจากนี้ ดร.นิพนธ์ ยังได้พูดถึงราคาการประมูลที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้วว่าเป็นราคาที่ เกินความเป็นจริงไป ดังนั้นโอกาสที่จะถึงจุดคุ้มทุนได้เท่ากับ “ศูนย์” จากข้อมูลการประมูลเมื่อ 6 ปีที่แล้วนั้น รายการทั่วไป ความละเอียดปกติ 7 ช่อง ราคาประมูลเริ่มต้นที่ 380 ล้านบาท แต่จบการประมูลที่ 2,300 ล้านบาท รายการทั่วไป ความคมชัดสูง 7ช่อง ราคาประมูลเริ่มต้นที่ 1,510 ล้านบาท จบการประมูลที่3,500 ล้านบาท รายการข่าวสารและสารประโยชน์ (ความละเอียดปกติ) 7 ช่อง ราคาประมูลเริ่มต้นที่ 220 ล้านบาทจบการประมูลที่ 1,300 ล้านบาท และ รายการเด็กและเยาวชน (ความละเอียดปกติ) 3 ช่อง ราคาประมูลเริ่มต้นที่ 140 ล้านบาท 600 ล้านบาท ซึ่งดร.นิพนธ์ ได้อธิบายถึงตัวเลขประมูลว่าเกินความเป็นจริงไปมากว่า
“ต้นทุนทำช่องรายการทั่วไปความละเอียดปกติหรือที่เราเรียกว่า SD นั้นอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาทถ้าเทียบกับเม็ดเงินในการโฆษณาจะต้องใช้เวลา 5 ปีถึงจะคืนทุน ส่วนช่องความคมชัดสูง หรือที่เรียกว่า HD นั้นต้นทุนอยู่ที่ 2,000ล้านบาท และใช้เวลา 5 ปีในการคืนทุนเช่นกัน หรือช่องข่าว ต้องคิดเป็นนาที หนึ่งนาทีอยู่ที่ 3,000 บาทเป็นต้นทุนที่แพงกว่าละคร ตัวเลขเริ่มต้นที่ให้ประมูลนั้นอยู่ที่ 220 ล้านบาท และปิดการประมูลที่ หนึ่งพันกว่าล้าน ซึ่งตัวเลขทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่ามีโอกาสในการคุ้มทุนได้ยาก หรือ อาจจะเท่ากับ “ศูนย์” พอถึงวันนี้ผู้ประกอบการก็ต้องมองความเป็นจริงว่าจะเดินหน้าต่อหรือ จะหยุดเพื่อห้ามเลือดตัวเอง”
“วันนี้มีสมาร์ทโฟน มีโซเชียลมีเดีย มีแพลทฟอร์มการรับชมที่สามารถชมย้อนหลังได้ มี OTT คุณต้องทำให้คนดูอยู่กับคุณให้ได้ในเวลา 8 วินาที”
แน่นอนว่าคนในวงการโทรทัศน์ หรือ ผู้ประกอบการที่เคลิ้มไปว่าตนเองกำลังเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกับ รูเพิร์ด เมอร์ด็อกซ (Media Mogul ระดับโลก) ที่ต่างคึกคักยิ่งในช่วงแรกที่ประมูลได้ พอถึงเวลานี้ ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มรู้แล้วว่า ความฮึกเหิมในห้องประมูลเมื่อ 6 ปีที่แล้วเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่การคืนใบอนุญาตก็หมายถึงการปลดคนทำงานในวงการโทรทัศน์จำนวนมหาศาล ไม่ใช่แค่เบื้องหลัง แต่หมายรวมไปถึงเบื้องหน้าด้วยก็สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการไม่น้อย ซึ่งดร.นิพนธ์ กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า
“เทคโนโลยีทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เมื่อก่อนคุณทำรายการทีวีคุณต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้คนอยู่กับคุณ ไม่เปลี่ยนช่องไปไหนในเวลา 2 ชั่วโมง เพราะในอดีตยังไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีเทคโนโลยีที่มาดึงความสนใจคุณได้เท่ากับในปัจจุบัน คุณสู้กับความสนใจของคนดู ไม่ให้หยิบรีโมท เปลี่ยนช่องไปไหน ขณะที่ช่วงเวลา 10 ปีก่อนหน้าจะมีการประมูลทีวีดิจิทัล มีสมาร์ทโฟนแล้ว แต่โซเชียลมีเดีย ยังไม่ได้แพร่หลายอย่างทุกวันนี้คุณต้องทำให้คนดูอยู่กับคุณให้ได้ 6 นาที พอถึงวันนี้มีสมาร์ทโฟน มีโซเชียลมีเดีย มีแพลทฟอร์มการรับชมที่สามารถชมย้อนหลังได้ มี OTT คุณต้องทำให้คนดูอยู่กับคุณให้ได้ในเวลา 8 วินาที”
“จะเห็นว่าเวลาลดลงไปเรื่อยๆ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันมีความสนใจต่อเรื่องหนึ่งเรื่องสั้นลง ถ้าคุณต้องการอยู่ในวงการสื่อต่อไป คุณต้องสร้างความแตกต่างของ Content ให้ได้ ขณะที่ผู้ประกอบการเอง ก็ต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนไป เพราะถึงแม้โทรทัศน์จะกลายเป็นการรับชมที่ไม่ตอบโจทย์ในปัจจุบันไปแล้ว แต่ คำว่าVision อันหมายถึง ภาพและเสียงจะยังอยู่ตลอดชีวิตมนุษย์ ซึ่งคนทำงานและผู้ประกอบการที่จะอยู่รอดได้นั้นต้อง สามารถมองเห็นความใหม่ แปลก แตกต่าง และ ต้นทุนต่ำ ที่ต่างจากรายอื่น”
ทั้งหมดนี้คือ ภาพรวมที่ดร.นิพนธ์ได้กล่าวถึง อนาคตของวงการโทรทัศน์ ในเมืองไทย ที่กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง และถ้าพิจาณาแล้ว จะเห็นได้ว่าผู้ผลิตเนื้อหา ในฐานะคนทำทีวีนั้นยังคงมีพื้นที่ของตนเองอยู่ต่อไป ขึ้นอยู่กับว่าจะเปิดใจเพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยได้มากแค่ไหน นั่นคือคำถามที่ถูกทิ้งไว้ในการพูดคุยกับดร.นิพนธ์ในครั้งนี้
สัมภาษณ์ เรียบเรียง : สวรรยา ทรัพย์ทวี