เมื่อกฎหมายสอดส่อง หมดความเป็นส่วนตัว เราเหลือทางเลือกไหนบ้าง

เพิ่งประกาศบังคับใช้ไปในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำหรับ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ล่าสุดราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2562

โดยมีรายละเอียดอธิบายง่าย ๆ สั้น ๆ คือการมีขอบเขตสามารถตรวจสอบได้ทุกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภับความมั่นคงของชาติ นอกจากนี้ยังมี ตามมาตรา 12 ให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติจัดให้มี ศูนย์ประสานข่าวกรองแห่งชาติ (ศป.ข.) ขึ้นมาภายใน ทำหน้าที่ประสานกิจการข่าวกรอง

หน้าที่สำคัญของ ศป.ข. คือติดตาม ประเมิน และวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศตลอด 24 ชม. อีกทั้งยังเฝ้าระวังภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัย เพื่อป้องกันและแก้ไขเหตุฉุกเฉินที่อาจทำให้เกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้น

หรืออ่านฉบับเต็มได้ ที่นี่

กฎหมายที่ใช้จำกัดสื่อออนไลน์และการแสดงความเห็น

เมื่อเสรีภาพการแสดงออกถูกรับรองและถูกจำกัดไปพร้อม ๆ กันภายใต้ข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งข้อดังต่อไปนี้เป็นข้อกฎหมายที่นิยามถึงการแสดงออกในสังคม โดยผ่านสื่อออนไลน์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลัก คือ

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดคือห้ามนำข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการติดตามและหยุดเผยแพร่ข้อมูลนั้น ๆ ด้วย
  • พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ โดยให้ความหมายว่า ภัยคุกคามไซเบอร์ หมายถึง การกระทำโดยมิชอบโดยใช้คอมพิวเตอร์ให้เกิดความเสียหายต่อระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่มีอำนาจขอข้อมูลจากใครก็ได้ ตรวจสอบสืบค้นทำสำเนาได้ จากอุปกรณ์ของเรา หากมีการ เล็งเห็น ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง
  • พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ดำเนินการด้วยวิธีใด ๆ รวมทั้งเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยีอื่นใดเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าว ทั้งนี้เงื่อนไขกำหนดโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี

หากอ่านข้อมูลฉบับเต็มของ พ.ร.บ. เหล่านี้ จะเห็นได้ว่ามีการตีความที่กว้าง ครอบคลุมได้ทุกเนื้อหาทางคอมพิวเตอร์ ออนไลน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้เต็มที่ ซึ่งเราไม่อาจทราบถึงดุลยพินิจของอำนาจนั้น

ทางออกหรือทางเลือก หากไม่อยากถูกสอดแนม

หลายคนอาจถามว่า แล้วจะมีทางไหนบ้างที่พอจะทำให้การท่องโลกอินเตอร์เน็ตมีความเป็นส่วนตัวเฉกเช่นเดิม ขอบอกเลยว่า ยาก เพราะในเมื่อคุณยังอยู่ในประเทศไทย เครือข่ายอินเตอร์เน็ตทั้งหมดที่ใช้เชื่อมถึงกันหมดอยู่แล้ว แต่อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าลองคือ VPN

VPN คืออะไร

มันคือ Virtual private network แปลเป็นไทยว่า เครือข่ายส่วนตัวเสมือน เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ใช้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ด้วยคุณสมบัตินี้ทำให้ VPN ถูกใช้เพื่อการเฉพาะ การเข้าถึงบางพื้นที่ปิดกั้น พูดง่าย ๆ เช่น การมุดไปซื้อเกมจากโซนประเทศรัสเซีย เพราะราคาถูกกว่าของไทยมาก ประมาณนี้

หรือบางที VPN ถูกนำไปใช้ก่อความผิดได้ด้วย โดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามได้ว่าใครเป็นคนก่อ

แล้วโอกาสในการใช้ VPN ของเราล่ะ ?

การใช้ VPN คือการสร้างความปลอดภัยในระบบ แต่จากที่อธิบายมานั้นจะเห็นได้ว่ามันเป็นดาบสองคมได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากผู้คนใช้กันแพร่หลาย และเกิดผู้ไม่หวังดีใช้ในทางที่ผิด แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือรัฐสามารถสั่งห้ามใช้ VPN ในประเทศไทยได้ ซึ่งในประเทศจีนก็มีการประกาศให้เลิกใช้ VPN

ทางออกที่ดีกว่านั้น ควรจะเป็นการแนะนำการใช้ VPN อย่างถูกต้องมากกว่า โดยอาจมีการลงทะเบียนผู้สามารถใช้มันได้โดยเฉพาะ ที่สามารถตามประวัติเมื่อเกิดปัญหาได้ แต่ในระหว่างใช้งานคุณก็ยังมีความเป็นส่วนตัวอยู่ ซึ่งในอนคตอาจมีทางออกที่ดีกว่านี้เพิ่มมาอีกก็ได้