เผยที่มา ‘เพื่อไทย’ ไม่ได้ที่นั่งส.ส.บัญชีรายชื่อ

หลังจากผลนับคะแนนการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการผ่านไปราวๆ 93 เปอร์เซนต์ ข้อมูลจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ส่งต่อให้สื่อทุกสำนักปรากฎว่า พรรคเพื่อไทยที่มีแนวโน้มได้ส.ส.แบบแบ่งเขตมากที่สุด กลับไม่ได้ที่นั่งส.ส.บัญชีรายชื่อเลย เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

คำตอบคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ฉบับล่าสุด ระบุไว้ชัดเจนถึงหลักเกณฑ์การคำนวนที่นั่งส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ ในรูปแบบใหม่ ที่ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่ง Tonkit360 จะลองนำตัวเลขล่าสุดจาก กกต.จากเมื่อเวลา 23.21 ของวันที่ 24 มีนาคม มาคำนวนให้เห็นภาพ ดังนี้

คะแนนเสียงของทุกพรรครวมกันในครั้งนี้ 31,024,840  คะแนน
คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทย 7,379,667 คะแนน 
จำนวนส.ส.เขตของพรรคเพื่อไทยที่ชนะเลือกตั้ง 129 ที่นั่ง

ขั้นตอนแรก หาค่าเฉลี่ยของส.ส. 1 คน ด้วยการนำคะแนนเสียงทั้งหมด หารด้วย 500 (จำนวน ส.ส.เขต 350 คน + ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน)
ในกรณีนี้ ตัวเลขคะแนนเสียงของทุกพรรครวมกันในครั้งนี้อยู่ที่ 31,024,840  คะแนน หารด้วย 500 จะได้ คะแนนเฉลี่ยของส.ส. 1 คน เท่ากับ 62,049.68 

ขั้นตอนที่สอง หาจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงได้ ด้วยการ นำคะแนนรวมเสียงรวมทั่วประเทศของพรรคนั้นๆ หารด้วย คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน(ที่คำนวนได้จากขั้นตอนแรก)
ในกรณีนี้ พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงทั้งหมด 7,379,667 คะแนน หารด้วย 62,049.68 จะได้จำนวน ส.ส.ที่พึงได้ เท่ากับ 118.93 (ปัดจุดทศนิยมได้เป็น 119 คน)

ขั้นตอนที่สาม นำจำนวนส.ส.ที่พึงได้ (จากการคำนวนในขั้นตอนที่สอง) ลบด้วยจำนวนส.ส.เขตที่พรรคนั้นๆได้รับเลือกตั้ง จะได้จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์
ในกรณีนี้ ส.ส.ที่พึงได้ของเพื่อไทยที่คำนวนได้คือ 119 คน แต่เพื่อไทยได้คะแนนเสียง ส.ส. 129 ที่นั่ง นำเอา 119 ลบด้วย 129 จะกลายเป็นตัวเลขติดลบ  จึงคิดเป็น 0 นั่นคือเหตุผลที่เพื่อไทยอาจจะไม่มีจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งครั้งนี้

ทั้งนี้ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ฉบับนี้ พยายามมุ่งเน้นให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย แม้จะไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.เขต (สังเกตจาก ค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน ที่คำนวนได้ในขั้นตอนแรก คือพรรคใดก็ตามที่ได้คะแนนถึง 62,049.68 คะแนน ก็จะมีสิทธิ์ได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อนั่นเอง) อย่างไรก็ดีมันกลับกลายเป็นอุปสรรคของพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้