แสงกระสือ – สัตว์ประหลาดก็มี “หัวใจ”

คุณผู้อ่านมีภาพจำต่อสัตว์ประหลาดของไทยที่มีแต่หัวกับไส้ในชื่อ “กระสือ” อย่างไรบ้าง?

ถ้าเป็นคนรุ่นคุณปู่คุณย่า คงรู้จักผีตัวนี้จากหนังเรื่อง “กระสือสาว” ที่รับบทโดย พิสมัย วิไลศักดิ์ เมื่อปี 2516 ขณะที่คนรุ่นพ่อ-แม่ของผู้เขียนก็น่าจะคุ้นกับละคร “กระสือ” เวอร์ชั่น รัชนู บุญชูดวง เมื่อปี 2520 ส่วนผู้เขียนเกิดทันได้ดูละคร “กระสือ” เวอร์ชั่น รชนีกร พันธุ์มณี ทางช่อง 7 ปี 2537 ที่ฮิตระเบิดระเบ้อ จนความน่ากลัวของมันทำเอาเด็ก 6 ขวบตอนนั้นกลัวจนไม่กล้าลุกมาเข้าห้องน้ำตอนดึก ขณะที่เพลงประกอบ “กระสือกลางวันมันเป็นหญิง มีทุกสิ่งธรรมด๊า..ธรรมดา” ก็โด่งดังจนตามหลอกหลอนโสตประสาทอยู่เป็นเดือน

อันที่จริงวงการบันเทิงบ้านเรา “ผีกระสือ” ซึ่งกำเนิดจากนิยายภาพของ ทวี วิษณุกร ปี 2511 ไม่เคยหายไปจากจอเงินหรือจอทีวี ทว่าแต่ละเวอร์ชั่นทั้งภาพยนตร์หรือละคร ขาดความโดดเด่นน่าจดจำเหมือนยุคคลาสสิคย่อหน้าบนอย่างรุนแรง ยิ่งปัจจุบันโลกเราเป็นยุคออนไลน์ วัยรุ่นใช้ชีวิตผูกกับ โซเชียล มีเดีย พวกเขาคงไม่รู้สึกกลัวอะไรกับผีกระสือที่มีลุคเชยๆโบราณ กินของสกปรกชวนแหวะ เพราะผีในยุคพวกเขามี Evolution น่าสนใจกว่าเยอะ ทั้งไล่ฆ่าด้วยความเร็วสูง เชือดคนผ่านอินเตอร์เน็ต-ไวไฟ เร้าใจกว่ามากมาย (ฮา)

และนั่นก็เป็นโจทย์ที่ทำให้ สิทธิศิริ มงคลศิริ ผกก.เลือดใหม่ที่ได้เปิดซิงกำกับหนังเดี่ยวๆเรื่องแรง คิดพา “ผีกระสือ” มาปัดฝุ่นใหม่ให้ดูน่าสนใจและเข้าถึงวัยรุ่นได้ง่ายด้วยพล็อตเรื่องแบบรักสามเส้า (เศร้า) และเนื้อหาชวนสะเทือนใจ ขณะเดียวกันการที่หนังได้ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผกก.หนังดัง รักแห่งสยาม มาช่วยเขียนบทก็ทำให้การกลับมาของกระสือรอบนี้ได้รับการจับตามากกว่าปกติ ขัดกับโปสเตอร์หนังที่แสนเชยไม่ดึงดูด (ฮา – แต่หนังตัวอย่างตัดมาน่าดูนะ)

“แสงกระสือ” เล่าเนื้อหาสไตล์ โรแมนติก-ธริลเลอร์ ถึงกลุ่มเพื่อนสนิท 3 คนในหมู่บ้านเล็กๆ น้อย เจิด และ สาย ที่นึกพิเรนทร์ไปเล่นซ่อนหากันตอนดึกที่บ้านร้างแห่งหนึ่งที่ร่ำลือกันว่ามีผีกระสืออยู่ข้างใน และความพิเรนทร์นั้นเองก็ทำให้ สาย ได้เจอกับผีกระสือและรับเชื้อผ่านการสัมผัสทางริมฝีปากแบบเต็มๆ ซึ่งเวลาล่วงเลยผ่านไป สาย ที่โตเป็นสาว ได้กลายร่างเป็นกระสือโดยสมบูรณ์แบบ ไล่กินสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ยามค่ำคืน มีเพียง น้อย ที่รู้เรื่องนี้และพยายามหาทางช่วยให้เธอกลับมาเป็นปกติจนเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง ขณะที่ เจิด เข้าร่วมกลุ่มนักล่ากระสือโดยที่ไม่รู้เลยว่าตัวจริงของผีตนนั้นคือสาวที่ตัวเองชอบมานาน ก่อนนำไปสู่ฉากสุดท้ายซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมอันแสนเศร้า

ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนพบว่ามีผู้เข้าชมในโรงเดียวกัน เดินออกมาร้องไห้สะอึกสะอื้นจำนวนมาก (โดยเฉพาะคุณสาวๆ) อันเป็นข้อพิสูจน์ว่า แสงกระสือ ทำได้เยี่ยมในการเล่าเรื่องที่สร้างอารมณ์ร่วมแก่ผู้ชมเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังถ่ายทอดบรรยากาศในหมู่บ้านเล็กๆที่แฝงความอึดอัด ลึกลับจนน่ากลัวเมื่อถึงฉากเวลากลางคืนได้น่าประทับใจ ดูแล้วสัมผัสได้ว่าหมู่บ้านนี้มีกระสือแน่ๆ และเราคงไม่อยากเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านนี้สักเท่าไหร่ รวมถึงอารมณ์เมโล-ดราม่า ที่ผสมเข้ามาลงตัวจนถึงฉากสุดท้าย

ขณะเดียวกัน ผกก.และคนเขียนบท ก็สมควรได้รับคำชมอย่างยิ่งในความกล้าที่บิดประเด็นของเรื่องมาที่ “หัวใจ” และ “ความรัก” ของสัตว์ประหลาด ซึ่งที่จริง ด้วยคาแร็กเตอร์ของผีกระสือ หลายเวอร์ชั่นที่ผ่านมามักถูกเขียนบทให้เป็นผีร้ายกินไก่-หมูที่ต้องหาคนมาปราบ แต่กับ “แสงกระสือ” มุ่งไปที่เรื่องความรักอย่างเดียว ก็น่าจะถูกอกถูกใจคนดูรุ่นใหม่ไม่น้อย ดังจะเห็นจากฉากหนึ่งในเรื่องของตัว สาย ที่แม้จะเป็นผีกระสือ แต่เธอก็มีความเป็น “มนุษย์” ที่ไม่อยากทำร้ายใคร (ถึงจะควบคุมตัวเองไม่ได้) อยากใช้ชีวิตเป็นปกติกับคนที่เธอรัก โดยพูดกับ น้อย ที่รู้ความจริงแล้วว่า “แม้แต่สัตว์ประหลาดก็มีหัวใจ” และกลับกันเมื่อเธอและคนรักถูกรังแก เธอก็พร้อมเล่นงานคนพวกนั้นอย่างสาสม

เอาจริงแล้วตัวหนังมีจุดอ่อนอยู่นิดหน่อยตรงความสัมพันธ์รักระหว่าง น้อย กับ สาย ซึ่งเล่าแบบรวบรัดไปนิดหนึ่งจนทำเอางงว่าคู่นี้รู้สึกรักกันตอนไหน บวกกับตัวนักแสดงชายที่ยังเล่นไม่เป็นธรรมชาตินัก แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ชวนหงุดหงิดเพราะเมื่อคิดถึงภาพรวมแล้ว แสงกระสือ ก็คือหนังรักในบรรยากาศสยองขวัญที่ทำได้ถึงอารมณ์และประณีต ไม่ดูถูกคนดู ยิ่งตัวหนังได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดีมากจากวันฉายรอบสื่อมวลชน ก็น่าจะเกิดกระแสปากต่อปากได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ หลังดูจบผู้เขียนนึกถึงผีไทยอีกตัวอย่าง “แม่นาคพระโขนง” ที่เคยฮิตแบบเปรี้ยงปร้างฟ้าผ่ากับหนังใหญ่ “นางนาก” เมื่อปี 2542 กวาดรายได้และรางวัลกลับบ้านเป็นกอบเป็นกำ และยืนระยะฉายในโรงภาพยนตร์ยาวนานอยู่หลายเดือนจนทำให้ผีแม่นาคกลับมาเป็นที่รู้จักแบบวงกว้างจนปัจจุบัน

ผู้เขียนก็หวังว่าจะเกิดปรากฏการณ์แบบนั้นกับ “แสงกระสือ” เช่นเดียวกัน