วัฒนธรรมการมอบรางวัลของวงการบันเทิงไทย

บ่อยครั้งที่เรามักจะเห็นผู้คนออกมาถกเถียงกันกับผลการประกาศรางวัลของโลกบันเทิงเมืองไทย แน่นอนว่าหัวข้อที่ถูกถกเถียงนั้นไม่ใช่เรื่องดีงามสักเท่าไรต่อคณะกรรมการที่ตัดสินผลรางวัล แต่การประกาศผลรางวัลในโลกบันเทิงเมืองไทย ก็ทำให้เราได้เห็นวัฒนธรรมที่ถูกส่งต่อกันมาอย่างยาวนาน และ วัฒนธรรมดังกล่าวก็ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ ของการประกาศผลรางวัลในเมืองไทยนั้นลดน้อยถอยลงทุกที ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้นลองมาดูกัน

ผลของการตัดสินไม่ถูกเก็บเป็นความลับอย่างที่ควรจะเป็น

ในการประกาศรางวัลของโลกบันเทิงไทยนั้น นักข่าวมักจะรู้ผลการประกาศรางวัลล่วงหน้าอย่างน้อย สามชั่วโมง และในขั้นตอนนี้ก็ทำให้มีการหลุดรั่วของผลรางวัลได้ง่าย ซึ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรางวัลดังกล่าว และ ทำให้หลายคนรู้สึกว่าการประกาศผลไม่ศักดิ์สิทธิ์อย่างที่ควรจะเป็น

ช่องหรือค่าย จะได้รับการส่งสัญญานเรื่องผลรางวัล

แม้ว่าจะไม่ได้บอกกันตรงๆ แต่ก็จะมีการแจ้งแบบอ้อมๆแก่ผู้ที่ได้รับรางวัล เพื่อให้ผู้ที่ได้รับรางวัลเตรียมตัวเพื่อมารับรางวัล ในขณะผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง ก็จะรู้อยู่เช่นกันว่าถ้าไม่ได้รับการส่งสัญญานมา ก็เท่ากับว่าจะเป็นการเดินทางไปร่วมงานเพื่อแสดงความยินดีกับคนอื่น และ อาจทำให้หลายคนต้องติดธุระกระทันหันขึ้นมาทันที

กระจายรางวัลเพื่อความเหมาะสม

คุณอาจไม่เชื่อว่า การตัดสินมอบรางวัลในเมืองไทย ถ้าไม่นับผลจากการโหวต และ ที่สำนักข่าวหลายแห่งตั้งรางวัลของตนเองขึ้นมา บรรดาสถาบันที่ใช้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการตัดสินรางวัลนั้น จะมีการตัดสินรางวัลให้กระจายทั่วถึงกัน ยิ่งในยุคที่ทีวีมีมากกว่า 20 ช่อง การมอบรางวัลด้วยเหตุผลเพื่อให้กำลังใจ แก่ช่องต่างๆ ก็จะมีให้เห็นรวมไปการตัดสินรางวัลเพราะ ผู้บริหารช่องให้ความสนับสนุนในการประกาศรางวัลมาเป็นอย่างดี

เมืองไทยมีรางวัลจากหลายสถาบัน

ในเมืองไทยถ้านับเฉพาะรางวัลทางด้านโทรทัศน์ จะมีอยู่หลายรางวัลเลยทีเดียว ทั้งจากสำนักข่าวที่จัดงานมอบรางวัลของตัวเอง หรือ จากสมาคมฯ และ มูลนิธิที่เกี่ยวกับงานด้านบันเทิง ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้การมอบรางวัลในเมืองไทยเกิดขึ้นบ่อยเกินไป และมีหลายเวทีมากเกินไปจนทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของตัวรางวัลลดน้อยลง เพราะถ้าพลาดรางวัลจากเวทีนี้ไป ก็ยังมีรางวัลจากเวทีอื่นคอยปลอบใจอยู่ดี

ถ้าเรตติ้งดีก็เข้าหูเข้าตาคณะกรรมการ

เอาเข้าจริงแล้ว คณะกรรมการที่ตัดสินรางวัลนั้น ไม่สามารถนั่งดูละครหรือรายการอย่างพินิจพิเคราะห์ได้ทุกเรื่อง ส่วนใหญ่แล้วก็จะเกิดจากการบอกต่อจากคนใกล้ชิด และ กระแสในสังคมที่ให้การตอบรับต่อละครหรือรายการนั้นๆ เมื่อมีคนพูดถึงมากคณะกรรมการ ก็ต้องมีใจโน้มเอียงในการพิจารณามากกว่า ละครนอกกระแส เมื่อเป็นแบบนี้ ละครที่เรตติ้งไม่ดี ก็มีอันหลุดหูหลุดตาไปได้โดยง่าย ส่วนละครเรตติ้งต่ำ แต่ดันมีชื่อนักแสดงหรือทีมงานได้เข้าชิงหรือรับรางวัล ก็ต้องบอกว่ากำลังภายของช่อง หรือ ผู้จัดนั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการเป็นอย่างยิ่ง