เรียนรู้ “ศิลปะ” เพื่อยอมรับรสนิยมที่แตกต่าง

อย่างที่เคยได้เขียนไว้ในบทความที่แล้วเกี่ยวกับวิชาศิลปะ ว่าเราสามารถทำได้ทุกอย่างนอกจากวาดรูป เพราะเราไม่ได้เรียนวาดรูปอย่างเดียว (“เรียนศิลปะ จบมาแล้วจะทำงานอะไร?” คำถามที่ควรหมดไปได้แล้ว)

Tonkit360 จึงจะขอพูดถึงอีกหนึ่งวิชาที่นักเรียนศิลปะจะได้เรียนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลงานที่ดี นั่นคือวิชา สุนทรียศาสตร์

สุนทรียะ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 แปลว่า เกี่ยวกับความนิยม ความงาม ว่ากันง่ายๆ ก็คือวิชาที่สอนเกี่ยวกับความงาม ไม่ว่าจะเป็นความงามจากธรรมชาติ หรือความงามจากงานศิลปะ

สุนทรียศาสตร์เป็นคล้ายๆ วิชาว่าด้วยปรัชญา ซึ่งถ้าเอามาเล่าคงจะหลับกันหมด แต่ก็มีหลายพาร์ทที่น่าสนใจมากๆ หนึ่งข้อดีของวิชานี้คือทำให้เราเรียนรู้ที่จะมองเห็นรสนิยมและความชอบของคนอื่นที่อาจจะแตกต่างจากเรา เพื่อจะเข้าใจและยอมรับมัน

เพราะศิลปะไม่ใช่คณิตศาสตร์ ที่ถึงแม้จะมีวิธีคิดหลายแบบแต่สุดท้ายแล้วคำตอบก็มีคำตอบเดียว ไม่งั้นจะถือว่าผิด ซึ่งศิลปะเป็นวิชาที่ไม่มีถูกไม่มีผิด ถึงจะมีทฤษฎีที่ตายตัวในบางอย่างแต่ความคิดสร้างสรรค์ การทำอะไรใหม่ๆ นั้นน่าตื่นเต้น น่ายกย่องกว่า

พาร์ทหนึ่งของวิชาสุนทรียศาสตร์สอนให้เราหัดมองความชอบของคนอื่นบ้าง อย่างเช่น ศึกษาภาพวาดส่วนใหญ่ของโคลด โมเนต์ เราจะเห็นว่าสิ่งที่เขาโปรดปราณก็คือการวาดภาพสระบัวในบ้านตัวเอง หลากหลายมุมที่เขานำเสนอออกมาไม่ว่าจะเป็นสะพานไม้ ดอกบัว สระบัว หรือธรรมชาติ จนทำให้เราสามารถสรุปได้ว่าสุนทรียะของโมเนต์ ก็คือการวาดภาพสระบัวและธรรมชาติ

สระบัว ของโปรด โมเนต์

หรือภาพการใช้ชีวิตของผู้คนที่วาดโดยเรอนัวร์ ที่ช่วงแรกๆ ยังไม่ถูกยอมรับมาก เพราะเขานิยมวาดคนธรรมดา ไม่ได้วาดภาพเทพเจ้า หรือผู้สูงส่งคนไหนแบบที่สังคมสมัยนั้นนิยม แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะวาดผู้คนต่อไป ทำให้สุดท้ายผลงานและตัวเรอนัวร์ก็มีชื่อเสียงขึ้นมาได้ เป็นศิลปินอีกคนที่เราสามารถแยกผลงานของเขาจากคนอื่นได้อย่างชัดเจน อีกหนึ่งเสน่ห์จากผลงานของเขาก็คือแสงแดดที่ลอดผ่านใบไม้ลงมากระทบกับตัวคนในภาพ จะเห็นได้ว่าสุนทรียะของเรอนัวร์ก็คือการวาดผู้คนที่กำลังใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในงานเลี้ยง ในสวน หรือแม้แต่นักเต้นบัลเลต์

วาดคนสไตล์เรอนัวร์

หรือสุนทรียะของแจ็คสัน พอลล็อค ที่สบัดสีสร้างผลงานศิลปะ พวกคนที่ชอบ Perfectionist ก็อาจจะไม่ค่อยเห็นว่ามันสวยงาม แต่ก็ยังมีคนไม่น้อยที่รักในสไตล์ Abstract แบบพอลล็อค ซึ่งสุนทรียศาสตร์จะช่วยเปิดโลก และมองในมุมที่เราอาจจะมองข้ามไปอย่างเช่นรสนิยมความชอบของผู้อื่นบ้างนั่นเอง

อีกหนึ่งอย่างที่เป็นข้อดีของวิชาสุนทรียศาสตร์ คือการได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความรู้สึกต่องานศิลปะนั้นๆ การที่เรามองงานศิลปะชิ้นหนึ่งแล้วบอกได้ว่าดูแล้วให้ความรู้สึกยังไง มองงานนี้แล้วหดหู่จังเลย หรือมองงานสีสดๆ ของฮอคนีย์แล้วสดใส สบายใจ หรือมองการประดับกระจกในโบสถ์แล้วให้ความรู้สึกสงบ เลื่อมใสศรัทธา การฟังเสียงที่แตกต่างกันก็ทำให้ความรู้สึกก็แตกต่างกันไปอีก นั่นทำให้เวลาเราดูละครคอมมาดี้ เราก็จะได้ยินเสียงประกอบที่สดใสสบายหู แต่เวลาดูละครสยองขวัญหรือละครสืบสวน เราก็จะได้ยินเสียงประกอบที่กระตุ้นอารมณ์ให้เราตื่นเต้นไปด้วยนั่นเอง

นั่นทำให้คนที่เรียนศิลปะไม่ใช่แค่เรียนวาดรูป หรือเรียนดนตรีไปวันๆ เท่านั้น แต่ยังได้ศึกษาหลายศาสตร์รวมถึงการได้หัดมองความชอบ และยอมรับรสนิยมของคนอื่นที่แตกต่างจากเราอีกด้วย อีกความสนุกสนานของการเรียนศิลปะคือถ้าเราเห็นผลงานไหนบางครั้งก็บอกได้เลยว่าใครเป็นคนทำ หรือแม้แต่เห็นผลงานบางชิ้น แล้วสามารถตัดสินไปได้เลยว่าเพื่อนเราเองต้องชอบแบบนี้แน่นอน นั่นเหมือนเป็นการซึมซับความชอบของคนอื่นเข้ามาแบบเนียนๆ เหมือนกัน

ซึ่งวิชาสุนทรียศาสตร์นี่ไม่น่าเป็นวิชาที่เรียนเฉพาะนักเรียนศิลปะเลย แต่คนทั่วๆ ไปควรได้เข้าถึงการศึกษาความชอบของคนอื่นด้วย เผื่อว่าเราจะหัดเข้าใจคนอื่นและเรื่องดราม่าขัดใจกันมันจะได้น้อยลงบ้าง