วิธีรับมือมลพิษทางอากาศของ 3 เมืองใหญ่ที่ผู้บริหารไม่นิ่งเฉย

สภาพมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานครที่มีรายงานเรื่องฝุ่นมลพิษ มาโดยตลอดตั้งแต่ปีที่แล้ว ยังคงเป็นเรื่องที่ทางภาครัฐรวมไปถึงผู้บริหารกรุงเทพมหานครยังไม่ได้ขยับไปไหน จะมีเพียงออกประกาศของความร่วมมือจากประชาชน และยังไม่มีโครงการหรือ การรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วเรามาดูกันดีกว่าว่า เมืองใหญ่เมืองอื่นที่ต้องเจอกับปัญหามลพิษทางอากาศ หรือ มีฝุ่นมลพิษเช่นเดียวกับในกรุงเทพฯจนทำให้อันตรายต่อพลเมืองพวกแก้ปัญหาอย่างไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้ประชากรในเมืองหายใจกันได้อย่างเต็มปอด

กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ในปี 2014 มีรายงานว่า ถนนอ๊อกฟอร์ด สตรีท ย่านการค้าใจกลางกรุงลอนดอนนั้นวัดค่าไนโตรเจนไดออกไซด์ได้เกินมาตรฐานและส่งผลต่อสภาพอากาศในกรุงลอนดอนเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ กรุงลอนดอน ต้องเผชิญกับสภาพมลพิษในอากาศมาอย่างยาวนาน และส่วนใหญ่เป็นมลพิษที่เกิดขึ้นจากรถยนต์

ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางภาครัฐ และ ผู้ว่าการกรุงลอนดอน ไม่ได้นิ่งเฉยมีการรณรงค์​เพื่อทำให้อากาศในเมืองหลวงแห่งนี้ดีขึ้นมาโดยตลอด และเน้นให้ประชาชนใช้รถยนต์ให้น้อยลงและใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงรถเมล์ภายในกรุงลอนดอน ให้มีมาตรฐานของเครื่องยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษทางอากาศ

ทั้งนี้ในปี 2017 เริ่มมีการใช้มาตรการ Toxicity Charge or T-charge) มาตรการเก็บค่ามลพิษ ซึ่งจะเป็นการเก็บเงินผู้ใช้รถยนต์ที่ซื้อก่อนปี 2006 ต้องชำระค่ามลพิษเพิ่มเติมอีกประมาณ 10 ปอนด์ ในการผ่านเข้าสู่ใจกลางเมืองลอนดอน ในช่วงเวลา 07.00 – 18.00 น. ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการนำร่องของ นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ซาดิค ข่าน ที่ต้องการช่วยลดระดับความรุนแรงของมลพิษทางอากาศในกรุงลอนดอน

นอกจากนี้แล้วยังมี โครงการที่รณรงค์กันอย่างจริงจังจากรัฐบาลอังกฤษ กับ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ภายใต้ชื่อโครงการว่า “Clean Air in London” โดยมีเป้าหมายในการทำให้คุณภาพอากาศในกรุงลอนดอน นั้นดีขึ้นมากกว่าเดิมด้วยแนวทางที่ทำให้เกิดผลสูงสุด


เม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก

นครหลวงของประเทศในอเมริกากลาง ที่มีสภาพความแออัดในตัวเมืองไม่ต่างจากกรุงเทพมหานคร ประชากรภายในนครเม็กซิโก ซิตี้ นั้นมีตัวเลขโดยประมาณอยู่ที่ 8.8 ล้านคน

สภาพอากาศในเมืองเม็กซิโก ​ซิตี้ นั้นย่ำแย่มากมลพิษจากรถยนต์ และ โรงงานอุตสาหกรรมถึงขนาดมีรายงานว่า “มีคนเห็นนกบินอยู่ในเมืองแล้วตกลงมาตายเพราะอากาศที่เป็นพิษ” เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้หลายคนน่าจะพอจินตนาการ อากาศอันย่ำแย่ในเม็กซิโก ซิตี้ ออก

ทางการเม็กซิโก ซิตี้เห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้เกิดโครงการ BreatheLife campaign ที่มีเป้าหมายในการทำให้ สภาพอากาศในเมืองดีขึ้น มีการจำกัดจำนวนรถยนต์ที่เข้ามาวิ่งในเมือง และ การตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมให้เข้มงวดมากกว่าเดิม รวมไปถึงรถเมล์ในระบบขนส่งสาธารณะ ที่ได้รับการเปลี่ยนให้เป็นรถที่ใช้พลังงานสะอาด ให้เพียงพอต่อประชากรในเมือง รวมไปถึง แท็กซี่ และ มอเตอร์ไซต์ ที่ต้องเปลี่ยนมาใช้ เครื่องยนต์ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ

โครงการดังกล่าวเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2018 และ ทางการเมืองเม็กซิโก ซิตี้ ก็คาดหวังว่าจะทำให้นครหลวงของพวกเขามีสภาพอากาศที่ไม่ทำร้ายประชากรในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนภายในเมือง


นครปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

เมืองหลวงที่มีประชากรประมาณ 21.7 ล้านคน มีปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่มีการเปิดประเทศ และ ทำให้ถนนทุกสายมุ่งหน้าสู่นครปักกิ่ง ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างอาคารสูงที่เกิดขึ้นทั่วเมือง จำนวนรถยนต์ มอเตอร์ไซต์ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี รวมไปถึงสภาพภูมิประเทศที่จะต้องเจอพายุทะเลทราย ที่ทำให้อากาศในกรุงปักกิ่งนั้นย่ำแย่ไปมากกว่าเดิม

เมื่อทุกคนในเมืองต่างต้องร่วมชะตากรรมเดียวกัน ทางผู้บริหารนครปักกิ่งจึงได้เริ่มโครงการ “Make our skies blue again” โครงการที่มีมาตรการที่เข้มงวดกับการใช้พลังงานถ่านหินอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำสภาพอากาศ ในกรุงปักกิ่งเลวร้ายลง รวมไปถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และ การจำกัดจำนวนรถยนต์และมอเตอร์ไซต์บนท้องถนน

มาตรการอันเข้มข้นของทางการปักกิ่ง ได้ส่งผลให้เห็นเมื่อเดือนมกราคมปี 2561 เมื่อกรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรุงปักกิ่งเปิดเผยว่า ปี 2560 ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนในนครปักกิ่งลดลงถึง 20.5 เปอร์เซนต์ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้นการรณรงค์เพื่อให้ท้องฟ้ากลับเหนือนครปักกิ่ง ให้กลับมาใสเหมือนเดิมยังคงดำเนินต่อไป เพราะผู้บริหารของนครปักกิ่ง และ ชาวเมืองต่างตระหนักถึง อันตรายของมลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง