วงการศิลปะไทยและเทศในปี 2018 มีอะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นบ้าง?

กทมจะยึดหอศิลป์กรุงเทพไปบริหารเอง จริงหรอ

เป็นกระแสที่ทำให้คนในวงการศิลปะและคนที่สนใจ รู้สึกหดหู่ใจมาก หลังจากที่ผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน (พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง) ได้โพสเฟสบุ๊คเป็นนัยๆ ว่าจะมีส่วนเข้ามาพัฒนาและบริหารจัดการหอศิลป์กรุงเทพฯ ให้เกิดประโยชน์มารที่สุดในพื้นที่ ด้วยการสร้าง co-working space เพื่อให้ทุกคนได้มีพื้นที่พูดคุย สร้างสรรค์ ทำงานต่างๆ ซึ่งอาจจะขัดกับหลักหอศิลป์ทั่วไปมากไปหน่อยตรงที่ว่า หอศิลป์นั่นคือพื้นที่สำหรับแสดงผลงานศิลปะ วัฒนธรรม เพื่อให้ศิลปินน้อยใหญ่ได้มีพื้นที่แสดงออก แถมหอศิลป์กรุงเทพฯ ยังมีพื้นที่นั่งพักผ่อน และแหล่งค้นคว้าหาความรู้อยู่แล้วด้วยซ้ำ

เกิดกระแสต่อต้านทั้งคนในและนอกวงการ ด้วยความที่เห็นว่าไม่เหมาะที่กทม.จะเข้ามาบริหารเอง (เอาตรงๆ คือไปทำหน้าที่จริงๆ ที่ตัวเองต้องทำให้ดีก่อน) จนในที่สุดผู้ว่ากรุงเทพฯต้องล่าถอยไปเพราะกระแสต่อต้านนี้

อย่างไรก็ตามเราก็ต้องดูกันอีกครั้งในปี 2021 ที่มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจะหมดสัญญาในการดูแลหอศิลป์ อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ BACC เลยก็ว่าได้

เป็นของขวัญแฮปปี้เบิร์ธเดย์ 10 ปีของหอศิลป์กรุงเทพที่สุด…จริงๆ

ภาพจาก Facebook Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

BKK Art Biennale 2018 สุขสะพรั่งพลังอาร์ต

ภาพจาก Facebook BkkArtBiennale

ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีของวงการศิลปะที่ได้มีการจัดอีเว้นยิ่งใหญ่อย่าง อาร์ตเบียนนาเล่ ในประเทศไทยซะที นั่นคือการที่เนรมิตกรุงเทพให้เต็มไปด้วยงานศิลปะจากศิลปินทั้งไทยและระดับโลกมากมาย ได้เห็นความแปลกใหม่ของการติดตั้งงานศิลปะแบบ Contemporary Art หรือศิลปะร่วมสมัยในวัด รวมทั้ง Performance Art ที่น่าสนใจจากหลายศิลปิน

ถึงแม้จะยังไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่เป็นการเริ่มต้นที่น่าสนใจ เพราะมีศิลปินดังๆ ระดับโลกหลายคนส่งผลงานมาร่วมในอาร์ตเบียนนาเล่ครั้งนี้ ทำให้เราสามารถหวังกับวงการศิลปะไทยต่อไปได้


ลิโด้ อีกหนึ่งการคืนพื้นที่ เพื่อพัฒนาให้เจ๋งกว่าเดิม

ภาพจาก Facebook Apex Scala

ปิดฉาก 50 ปีโรงภาพยนตร์ลิโด้ ที่ได้หมดสัญญากับสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ จึงปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นอีกเรื่องที่น่าใจหายเหมือนกัน

ถามว่าเกี่ยวกับศิลปะยังไง? เมื่อกลางเดือนธันวาคมได้มีข่าวออกมาว่า LOVEiS Entertainment ค่ายเพลงชื่อดังได้เป็นคนสานต่อโรงภาพยนตร์ลิโด้ให้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการรวบรวมและพัฒนาศิลปวัฒนธรรม เหมือนเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ปรับโรงภาพยนตร์เก่าให้เป็น Concert Hall ที่รองรับทั้งละครเวที นิทรรศการ และอีกมากมาย ซึ่งจะตอบโจทย์คนที่รักศิลปะและบันเทิงไม่น้อย

คาดว่าเราจะได้เห็นโฉมใหม่ของลิโด้ได้ประมาณกลางปีหน้า


ดอกมุราคามิ บูมในหมู่วัยรุ่นไทย

ถึงแม้จะมีชื่อเสียงมานานแล้ว แต่ทาคาชิ มุราคามิ ศิลปินญี่ปุ่น หรือดอกมุราคามิ เพิ่งจะมาเป็นที่รู้จักและนิยมในหมู่วัยรุ่นไทยเมื่อไม่นานมานี้เอง และคนทั่วไปก็ฮือฮาเพราะราคาคาค่อนข้างสูง (ประมาณ 700-1500 บาท) ดอกมุราคามิคือเครื่องประดับอย่างหนึ่งที่เอาไว้ติดหมวก ติดเสื้อ ติดกระเป๋า ติดรองเท้า ติดอะไรก็ได้ที่อยากติด เป็นอีกหนึ่งแฟชั่นและศิลปะที่เป็นกระแสเด่นๆ ในปีนี้

ภาพจาก Youtube YG ENTERTAINMENT

ดอกมุราคามิในมิวสิควิดีโอ Breathe ของ G-Dragon เมื่อปี 2009


งานของ Banksy ทำลายตัวเองหลังถูกประมูล

ช็อควงการศิลปะกันอีกครั้งในปีนี้ ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากที่มีการประมูลภาพ Balloon Girl ของ Banksy ไปในราคา 1 ล้านยูโร หรือประมาณ 38.5 ล้านบาท แต่อยู่ดีๆ ผลงานก็ถูกทำให้กลายเป็นเส้นๆ ทั้งๆ ที่อยู่ในกรอบนั่นแหละ! ถือเป็นความตั้งใจของศิลปินที่โคตรจะกล้า แต่ทุกคนเชื่อว่าหลังจากที่ผลงานทำลายตัวเองเสร็จแล้ว น่าจะมีมูลค่ามากกว่าเดิมเสียอีกในการประมูลครั้งต่อไป เพราะถือเป็นการขายคอนเซปต์อย่างหนึ่ง


งานของ David Hockney ถูกประมูลแพงที่สุดในโลก

ภาพจาก davidhockney.co

ถือเป็นอีกเรื่องที่ฮือฮา นั่นคือการประมูลภาพวาด Portrait of an Artist (Pool with Two Figures) ของเดวิด ฮอคนีย์ เป็นภาพเขียนที่ถูกประมูลไปด้วยราคาแพงที่สุดในโลกในขณะที่ศิลปินยังมีชีวิตอยู่ นั่นคือ 90 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,925 ล้านบาท เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำลายสถิติประติมากรรม Balloon Dog ของ เจฟฟ์ คูนส์ ที่เคยถูกประมูลไปในราคา 58.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,898 ล้านบาท ในปี 2013

อ่านเรื่องราวของฮอคนีย์เพิ่มเติมได้ที่นี่

David Hockney เดวิด ฮอคนีย์ : ศิลปินที่ผลงานจะไม่ยอมแก่ไปตามอายุ!


โขนไทย ขึ้นทะเบียนเป็น มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา

เล่นเอาชาวเน็ตไทยทะเลาะกับชาวเน็ตกัมพูชาได้เป็นเรื่องเป็นราว กับการที่ไทยได้ยื่นขอให้ “โขนไทย” ขึ้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมภูมิปัญญา เลยเกิดการถกเถียงกันอย่างจริงจังว่าแท้จริงแล้ว โขน มีที่มาจากไหน? และใครควรได้เป็นเจ้าของกันแน่?

ภาพจาก Youtube UNESCO

ท้ายที่สุดแล้ว ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ทั้งโขนไทย และ โขนกัมพูชา ล้วนได้ขึ้นเป็นมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาทั้งสิ้น ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นมรดกทางวัฒธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่สิ่งที่สองประเทศต้องทำนั่นก็คืออนุรักษ์และสืบสานโขนให้มีต่อไป จัดการเรียนการสอนและเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้อย่างถูกต้อง ถึงจะทำให้โขนเป็นมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาอย่างแท้จริง

 

ปีนี้เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงและความฮือฮาทางศิลปะได้หลากหลายอีกปีหนึ่งเลย เราต้องมาติดตามกันต่อว่าปีหน้าวงการศิลปะไทยและต่างประเทศจะมีอะไรให้เราว๊าวกันอีกบ้าง