BOHEMIAN RHAPSODY – จงสดุดี “ราชาในนามราชินี”

หนึ่งในโปรเจกต์เจ้าปัญหาที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าแก่ผู้สร้าง นักแสดง ผู้กำกับ รวมถึงแฟนเพลง ที่เฝ้ารอชมภาพยนตร์ชีวประวัติของหนึ่งในวงร็อคที่ดีที่สุดของโลกตลอดกาล เพราะเจออาการโรคเลื่อนมาหลายครั้ง นับตั้งแต่ประกาศสร้าง เมื่อ 8 ปีที่แล้ว กระทั่งในที่สุด ความฝันของแฟนคลับก็เป็นจริงสักที เมื่อหนังถูกเปิดฉายไปทั่วโลก และเดินหน้าโกยรายได้แบบฉุดไม่อยู่ แม้เสียงวิจารณ์จะไม่สู้ดีนักก็ตาม

Bohemian Rhapsody คือ ชื่อเพลงร็อคโอเปร่าความยาวเกือบ 6 นาที ของ Queen วงร็อคชื่อก้องโลก จากเกาะอังกฤษ ซึ่งบรรจุอยู่ในอัลบั้มชุดที่ 4 ชื่อ A Night at the Opera เมื่อปี 1975 ทีแรกผู้บริหารค่ายเพลงปฏิเสธที่จะหยิบเพลงนี้ เป็นซิงเกิลโปรโมทส่งไปตามคลื่นวิทยุ เพราะเพลงมีความยาวเกินกว่าคลื่นวิทยุที่ไหนจะยอมเปิดให้ ขณะเดียวกัน ด้วยเนื้อเพลงที่เต็มไปด้วยเนื้อหาสุดงงงวย (ที่ทุกวันนี้สมาชิกวง Queen คนอื่น ๆ ก็ยังไม่รู้ว่า มันพูดถึงอะไร เพราะ เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ นักร้องและผู้แต่งเนื้อเพลง เสียชีวิตไปแล้ว) ก็ทำให้ผู้บริหารฟันธงว่า มันต้องเป็นล้มเหลว แต่สุดท้าย เฟรดดี้ แอบนำเพลงนี้ ไปให้เพื่อนดีเจที่สนิทกันช่วยเปิด และในที่สุดคนที่ฟังวิทยุค่ำคืนดังกล่าว ต่างหลงมนต์เสน่ห์ของ Bohemian Rhapsody เข้าอย่างจัง ก่อนที่มันจะกลายเป็นเพลงซูเปอร์ฮิตที่ส่งให้ Queen ยกสถานะตนเองเป็นวงร็อคระดับซูเปอร์สตาร์ในบัดดล

นอกจาก Queen จะมีบทเพลงฮิตกระหึ่มโลกมากมาย ทั้ง Another One Bite The Dust, Under Pressure, Don’t Stop Me Now รวมถึง We Will Rock You และ We Are The Champions 2 เพลง anthem สุดฮึกเหิม ที่ถูกเปิดในการแข่งขันกีฬาแทบทุกชนิดบนโลก เสียงร้องอันทรงพลัง และลีลาแสนแพรวพราวบนเวทีของ เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ นักร้องเจ้าเสน่ห์ ก็เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ ที่ทำให้วง Queen กลายเป็นที่รักของแฟนเพลงทั่วโลก แม้เขาจะเสียชีวิตไปนานถึง 27 ปี ด้วยโรคปอดบวม อันเกิดจากภาวะติดเชื้อ HIV แต่เสียงร้องและลีลาของเขา ยังคงอยู่ในใจแฟนเพลงทุกคนตลอดกาล

และด้วยความที่วง Queen มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์วงการดนตรีโลกมากมาย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจ หากทีมผู้สร้างภาพยนตร์ และผู้กำกับชื่อดังอย่าง ไบรอัน ซิงเกอร์ (เจ้าของผลงานฮีโร่เหนือมนุษย์ X-Men) กดคันเร่งเต็มฝีเท้า เพื่อผลักดันภาพยนตร์ชีวประวัติของวงนี้ออกมาจนสำเร็จ โดยใช้ชื่อเพลงฮิตตลอดกาล Bohemian Rhapsody เป็นชื่อเรื่อง พร้อมด้วยทัพนักแสดงฝีมือฉมัง และได้ 3 สมาชิกวง Queen ที่ยังมีลมหายใจอย่าง ไบรอัน เมย์ (กีต้าร์), จอห์น ดีคอน (เบส) และโรเจอร์ เทย์เลอร์ (กลอง) คอยดูแลงานอยู่ห่าง ๆ

หนังเล่าเรื่องราวของวง Queen ตั้งแต่วันที่ เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ เข้าร่วมวงกับ ไบรอัน เมย์, โรเจอร์ เทย์เลอร์ และ จอห์น ดีคอน ที่เข้ามาสมทบภายหลัง ก่อนร่วมกันทำเพลง อัดเสียงอัลบั้มชุดแรก ก้าวขึ้นมาเป็นวงร็อคชั้นแนวหน้าของวงการ ด้วยบทเพลงและการแสดงสดสุดเร้าใจ, การให้กำเนิดเพลงโคตรฮิตบันลือโลก Bohemian Rhapsody // We Will Rock You // Another One Bite The Dust, ความรักระหว่าง เฟรดดี้ และภรรยา, ปัญหาสับสนทางเพศของนักร้องนำผู้โด่งดัง ก่อนนำมาสู่การถูกคนสนิทปอกลอกกอบโกยผลประโยชน์, แตกหักกับสมาชิกคนอื่น, ชีวิตที่ตกต่ำถึงขีดสุด เมื่อพบว่า ตนเองติดเชื้อ HIV จนกลับมามีสติอยู่กับตัวเอง และตัดสินใจกลับมาคืนดีกับเพื่อน ๆ เพื่อขึ้นเวทีแสดงสด Live Aid ปี 1985 ณ สนามเวมบลีย์ อันเป็นคอนเสิร์ตที่ทำให้วง Queen กลายเป็นตำนานโดยสมบูรณ์

ด้วยวัตถุดิบอันยอดเยี่ยมขนาดนี้ แถมยังได้ลิขสิทธิ์เพลงของวงมาแบบครบครัน แบบที่ภาพยนตร์ชีวประวัติศิลปินเรื่องอื่น ยังทำไม่ได้ขนาดนี้ Bohemian Rhapsody น่าจะเป็นสุดยอดภาพยนตร์ชีวประวัติของวง Queen ได้ไม่ยาก แต่มันกลับเป็นดาบสองคม เพราะดูเหมือนว่า ผู้สร้างจะมีอาการสับสน ไม่รู้จะเลือกโฟกัสเรื่องราวตรงไหนเป็นพิเศษดี จะเล่าเรื่องของ เฟรดดี้ แบบเดี่ยว ๆ ก็ไม่ได้ เพราะหนังวางโจทย์มาแล้วว่า ต้องพูดถึงวง Queen โดยภาพรวม (หรืออาจเพราะเกรงใจ 3 สมาชิกที่อนุญาตให้สร้างหนังด้วย) จะตัดทอนเหตุการณ์บางจุดออกไปก็ไม่ดี เพราะมันสำคัญทั้งหมด

และเมื่อเกิดอาการรัก พี่เสียดายน้อง ทีมผู้สร้างจึงเลือกที่จะยัดเรื่องราวสำคัญของวง Queen เข้ามาทั้งหมด และรีบเล่าให้จบภายใน 2 ชั่วโมง 10 นาที แถมเล่าแบบผิวเผินพอให้รู้ว่า พูดถึงแล้วนะ ไม่ได้ทิ้ง หรือลืมไปเลย นั่นจึงทำให้หนังออกมาดูสะเปะสะปะไม่กลมกลืน จนกลายเป็นมักง่ายหลายครั้ง (ฝรั่งยังแซวว่า เหมือนดูหนังที่สร้างจากข้อมูลในวิกิพีเดีย…ฮา) ขณะเดียวกัน การที่หนังดัดแปลงเนื้อหาหลายส่วน จนไม่ตรงกับความจริง เพื่ออรรถรสเชิงภาพยนตร์ เช่น เฟรดดี้ ใช้ปัญหาที่เขาติดเชื้อ HIV มาเป็นแรงผลักดัน ในการแสดงบนเวที Live Aid เล่นแบบตัวตาย ถวายชีวิต ทั้งที่เรื่องจริง เฟรดดี้ มารู้ตัวว่า ติดเชื้อหลังแสดงจบไปนานหลายเดือน ฯลฯ ก็ทำให้แฟนเพลงพันธุ์แท้ของ เฟรดดี้ และผองเพื่อนที่เป็นสายข้อมูลดูแล้วมีจิ๊ปากเบา ๆ หลายรอบเหมือนกัน นอกจากนี้ ตัวหนังยังโฟกัสไปที่ตัวของ เฟรดดี้ เป็นหลัก จนผู้เขียนคิดว่า ถ้าเปลี่ยนเป็นหนังชีวประวัติของ เฟรดดี้ ไปเลยคงดีกว่า เพราะช่วงเวลาที่เขาเผชิญกับปัญหาชีวิต สภาพจิตใจตกต่ำ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และน่าศึกษากว่า

แม้การเล่าเรื่องจะมีปัญหา แต่ซีนสำคัญอย่างการแสดงคอนเสิร์ตรายการต่าง ๆ จุดนี้ ทีมผู้สร้างทำออกมาได้ยอดเยี่ยมเหลือคณา โดยเฉพาะซีนไคลแมกซ์ อย่างคอนเสิร์ต Live Aid ปี 1985 ที่ถ่ายทอดออกมาได้ทรงพลังเกินคาด ไม่ยิ่งหย่อนกว่าต้นฉบับ พ่วงด้วยระบบเสียงดิจิตอลเซอร์ราวด์ในโรงภาพยนตร์ที่ฟังแล้วเต็มอิ่มสุด ๆ ชนิดที่ทำเอาผู้เขียนซึ่งดูคอนเสิร์ต Live Aid ใน Youtube มาเป็นร้อยรอบ ยังต้องกลับบ้านไปเปิดดูของจริงด้วยความอิ่มเอมอีกรอบ

ขณะที่ฝั่งของนักแสดง รามี มาเล็ก นักแสดงหนุ่ม ที่เป็นที่รู้จักจากบทสมทบในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง การสวมบทบาทเป็น เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ นักร้องนำผู้ล่วงลับ และการแสดงที่ทุ่มเทสุดตัว เหมือนลากเอาวิญญาณของ เฟรดดี้ มาประทับ ยอดเยี่ยมจนต้องซูฮก โดยเฉพาะซีนคอนเสิร์ต Live Aid ที่เก็บรายละเอียดการเคลื่อนไหว และลีลาของ เฟรดดี้ ได้ครบทุกท่วงท่า (เจ้าตัวบอก ก่อนเข้าฉากต้องทำการบ้าน ด้วยการนั่งดูคอนเสิร์ตนี้กว่า 1,500 รอบ!!) น่าสนใจทีเดียวว่า เขาอาจมีลุ้นรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมในงานประกาศรางวัลเจ้าต่าง ๆ ปีหน้า ส่วนเพื่อนร่วมวงอีก 3 หน่อ ที่มาแสดงเป็น ไบรอัน เมย์, จอห์น ดีคอน และโรเบิร์ต เทย์เลอร์ ก็เป็นอีกหนึ่งทีมเวิร์คสำคัญที่ช่วยให้วง Queen ในเรื่องดูมีเลือดเนื้อและจิตใจ แถมมีซีนเด่นกันครบทุกคน ไม่ใช่เป็นแค่พระรองที่คอยส่งบทบาทให้พระเอกเพียงอย่างเดียว

ถึงตัวหนังจะมีอาการกระท่อนกระแท่น ไม่เหมาะสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการศึกษาประวัติของวง Queen แบบจริงจัง (ไปหาหนังสืออ่านดีกว่า) แต่ Bohemian Rhapsody ก็สมควรได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งบทบันทึกสำคัญที่ถ่ายทอด “พลัง” และ “วิญญาณ” ของตำนานวงร็อคผู้ยิ่งใหญ่จากเมืองผู้ดีนี้ไว้อย่างน่าพึงพอใจ โดยเฉพาะฉากคอนเสิร์ตที่ถ่ายทอดออกมาได้ถึงลูกถึงคน ชนิดที่ว่า ใครที่ไม่รู้จักวง Queen กลับบ้าน ต้องไปหาเปิดเพลงของพวกเขา ส่วนแฟนเพลงพันธุ์แท้ คงเดินยิ้มออกจากโรงอย่างมีความสุข ที่ได้ฟังเพลงของวงเจ้าของสมญา “ราชาในนามราชินี” ในระบบเสียงสุดกระหึ่มของโรงภาพยนตร์ จนนอนหลับฝันดีไปตาม ๆ กัน