เผลอแวบเดียว มหกรรมลูกหนังแห่งมวลมนุษยชาติ “ฟุตบอลโลก 2018” ที่รัสเซีย กำลังจะปิดฉากลงแล้วในคืนวันอาทิตย์ที่ 15 กรกฏาคม นี้ โดยเกมนัดชิงแชมป์ปีนี้คือการเจอกันของ ฝรั่งเศส อดีตแชมป์โลกปี 1998 และ โครเอเชีย ม้ามืดว่าที่แชมป์หน้าใหม่ ซึ่งหากดูตามหน้าเสื่อ แฟนบอลคงเทใจให้ขุนพลนักเตะ “ตราไก่” มากกว่า จากการมีกุนซือที่เคยผ่านการชูโทรฟี เวิลด์ คัพ มาแล้วเมื่อ 20 ปีก่อนนั่งกุมบังเหียนและศักยภาพนักเตะในทีมก็ดูเหนือกว่าเล็กน้อย
ฝรั่งเศส ถือเป็นทีมที่มีเรื่องราวน่าสนใจให้ติดตามทุกครั้งเมื่อถึงเวลาลงแข่งเวทีระดับชาติ พวกเขาเคยขึ้นถึงจุดสูงสุดคือหยิบแชมป์โลกในบ้านตัวเอง ต่อด้วยแชมป์ ยูโร 2000, ตกรอบแบ่งกลุ่ม เวิลด์ คัพ อย่างไม่เป็นท่าปี 2002, เวิลด์ คัพ ปี 2006 ที่เยอรมนี ซีเนอดีน ซีดาน ฮีโร่ของชาติ สร้างวีรกรรมเอาหัวโขก มาร์โก มาเตรัซซี กองหลังทีมชาติอิตาลี นัดชิงชนะเลิศ ก่อนโดนใบแดงไล่ออก “ตราไก่” แพ้จุดโทษวืดแชมป์โลกสมัย 2, มาถึง เวิลด์ คัพ 2010 ที่แอฟริกาใต้ ตกรอบแบ่งกลุ่มอีกครั้งพร้อมข่าวตีกันเองในแคมป์ระหว่างนักเตะกับกุนซือ กระทั่งศึก ยูโร 2016 ในบ้าน พวกเขาแพ้ โปรตุเกส ได้เพียงรองแชมป์ แต่เรียกศรัทธาจากแฟนบอลกลับมาได้
เปรียบขุนพล “เลส เบลอส์” ก็เป็นเหมือนชีวิตคนที่มีทั้งขึ้นและลง เริ่มต้นจากเดินทีละก้าวจนประสบความสำเร็จ ก่อนจะร่วงหล่นไปสู่จุดตกต่ำที่สุดของชีวิต และฟื้นคืนชีพกลับมา แต่เหนืออื่นใดสิ่งที่ทำให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้นไม่เพียงแค่ฝีเท้า แต่เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มที่แม้จะมีที่มาและเชื้อชาติที่แตกต่างกันสุดขั้ว ซึ่ง “Les Bleus: une autre histoire de France” สารคดีขนาดยาวของ ดาวิด ดิอาซ กับ โซเนีย ดอว์เกอร์ จะพาแฟนบอล “ตราไก่” ไปสำรวจการต่อสู้ของทีมฟุตบอลกลุ่มนี้แบบละเอียดลึกและดุเดือดดั่งหนังแอ็คชั่น
ตัวหนังจะแบ่งเนื้อหาเป็น 3 ยุค เริ่มที่ 1997-2000 ที่ทีมลูกหนังฝรั่งเศส เรืองรองสุดขีด, 2004-2010 ยุคตกต่ำและทำให้แฟนบอลเสื่อมศรัทธา ก่อนจบที่ยุค 2012-2016 ที่โชว์ฟอร์มเรียกความเชื่อมั่นของสาวกกลับมา แต่สิ่งที่ทำให้ Les Bleus: une autre histoire de France อยู่เหนือกว่าหนังสารคดีกีฬาอื่นๆ คือดราม่าการเมืองภายในประเทศที่สอดแทรกตีคู่กันมา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่ต่างกันของนักเตะแต่ละคนจนนำไปสู่ความเห็นแตกแยกของผู้คนในประเทศ
วันที่ ฝรั่งเศส ของกุนซือ เอ็มเม่ ฌักเกต์ คว้าแชมป์โลก “ฟรองซ์’ 98” แม้จะถูกตั้งคำถามถึงชาติพันธุ์ของนักเตะในทีมที่ไม่ใช่ชาวฝรั่งเศส 100% ซะเยอะ (ซีเนอดีน ซีดาน มีเชื้อสายแอลจีเรีย, ปาทริค วิเอร่า มีเชื้อสายเซเนกัล, มาร์กเซล เดอไซญี มีสายเชื้อกาน่า ฯลฯ) แต่ความสำเร็จวันนั้นก็ทำให้ประชาชนทั้งประเทศลืมเรื่องดังกล่าวและเรียกกลุ่มแชมป์โลกที่มีความหลากหลายนี้ว่า “ดำ-ขาว-อาหรับ” แทนสีของธงชาติ “น้ำเงิน-ขาว-แดง”
แต่อย่างที่เรารู้กันว่า ฝรั่งเศส มักตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายมาเนิ่นนาน เริ่มจากอาชญากรที่ถูกจับได้เป็นชาวต่างชาติที่อพยพเข้ามา ขณะที่เกมกระชับมิตรระหว่าง ฝรั่งเศส กับ แอลจีเรีย ปี 2001 แฟนบอลทีมเยือนพากันวิ่งลงมาป่วนในสนาม สต๊าด เดอ ฟรองซ์ เพื่อแสดงเจตนารมย์ว่า “พวกข้าไม่มีวันเป็นหนึ่งเดียวกับพวกฝรั่งเศส” แถมเรื่องราววุ่นวายภายในประเทศส่วนใหญ่ก็ดันเกิดขึ้นในช่วงที่ทีมฟุตบอลฝรั่งเศส ผลงานย่ำแย่พอดี ทำให้ประเด็นการแบ่งแยกเชื้อชาติ ถูกจุดขึ้นในสังคมอีกครั้งจากเหล่านักการเมืองที่ตราหน้าผู้อพยพแบบเหมารวมว่า “พวกขยะ”, นักเคลื่อนไหวกลุ่มเอียงจัด รวมถึงประชาชนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการปล่อยให้ “คนนอก” มาใช้สัญชาติร่วมกัน กระทั่งนักเตะที่เต็มใจมาเล่นให้ทีมชาติชนิดที่ ลิลิยง ตูราม ซึ่งเป็นนักเตะผิวสีถึงกับเดือดดาลออกสื่อเมื่อให้ความเห็นเรื่องนี้
การเมืองในฝรั่งเศสว่าดุเดือดแล้ว บรรยากาศภายในทีมฟุตบอลหลังสิ้นยุคเรืองรองก็เดือดไม่แพ้กันเมื่อนักเตะยุคถ่ายเลือดบางคนที่มีเชื้อสายจากถิ่นอื่น ทำตัวเป็นดั่งซูเปอร์สตาร์ ยิ่งใหญ่คับทีมทำให้กุนซือแต่ละยุคปฏิบัติตัวลำบาก, แฮนด์บอลสุดอื้อฉาวของ เธียร์รี อองรี ที่ทำให้ฝรั่งเศส ชนะประตูรวม ไอร์แลนด์ 2-1 ได้ไปเล่นบอลโลกรอบสุดท้ายที่แอฟริกาใต้ ปี 2010 จนถูกตราหน้าว่าเป็นทีมขี้โกง หรือการทะเลาะกันภายในระหว่างกุนซือ เรย์มงต์ โดเมเน็ค กับ นิโกลา อเนลกา กองหน้าตัวเก๋าในแคมป์ที่แอฟริกาใต้ ส่งให้ความสัมพันธ์ระหว่างโค้ชกับผู้เล่นเป็นศูนย์ และตกรอบแบ่งกลุ่มแบบน่าอับอายชนิดที่แฟนบอลที่บินไปดูถึงที่ถึงกับตะโกนสาปส่งด้วยความโกรธแค้น ไม่เพียงเท่านั้น ยุคที่ โลรองต์ บลองก์ เข้ามาคุมต่อจาก โดเมเน็ค ก็บังคับให้ลูกทีมหลากหลายเชื้อชาติ ร้องเพลงชาติทุกครั้งที่ลงสนาม จนเกิดอารยขัดขืนเป็นรอยร้าวภายในอีก
สุดท้ายมาถึงยุคกอบกู้ศรัทธา ปี 2012-2016 ฝรั่งเศส ภายใต้การคุมทีมของ ดิดิเยร์ เดสชองป์ส อดีตฮีโร่ “ฟรองซ์’98” อีกคน ผลงานเริ่มดูดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากฝีเท้าของนักเตะรุ่นใหม่ และตัดชื่อผู้เล่นตัวปัญหาที่สามารถสร้างความแตกแยกภายในทีมออกไปแล้ว “เดเด้” ยังให้อิสระกับนักเตะเต็มที่ในการปฏิบัติตัวต่อสื่อและแฟนบอล (เอาจริงนักเตะชุดนี้ที่นำโดย พอล ป็อกบา, อองตวน กรีซมันน์ ฯลฯ ก็เฟรนด์ลี่กับสื่อและแฟนๆแบบสุดตัวอยู่แล้ว) และไม่บังคับให้ร้องเพลงชาติด้วย ตัดปัญหาเรื่องการบังคับจิตใจกันไปได้เยอะทีเดียว
หนังจบลงที่ศึก ยูโร 2016 ที่ ฝรั่งเศส ได้เพียงตำแหน่งรองแชมป์ แต่กลายเป็นว่าไม่มีแฟนบอลคนใดกล้าด่าทอสาปแช่งเมื่อพวกเขาเห็นพ้องต้องกันว่า “เลส เบลอส์” ชุดนี้เรียกคืนรอยยิ้มที่หายไปนานกลับมาบนใบหน้าของแฟนบอลได้เต็ม 100% แล้ว ก่อนจะทำให้ทุกคนชื่นใจด้วยการพาทีมเข้าชิงชนะเลิศ เวิลด์ คัพ ที่รัสเซีย ได้ในที่สุด ส่วนจะเอาชนะ โครเอเชีย คว้าดาวแชมป์โลกดวงที่ 2 มาประทับบนอกเสื้อได้หรือไม่ สุดสัปดาห์นี้มาลุ้นกัน
และสำหรับแฟนบอลทีมชาติฝรั่งเศส ถ้าอยากอินกับจิตวิญญาณนักสู้ของนักเตะกลุ่มนี้ให้มากที่สุด อย่าลืมกดดู “Les Bleus: une autre histoire de France” เรียกน้ำย่อยก่อนดูนัดชิงด้วยนะครับ ดูสนุก ไม่มีง่วงแน่นอนเพราะมีดราม่าให้เครียดกันทุกช่วงจนไม่กล้าหลับกันเลย ฮาๆ (ดูได้ทาง Netflix)