บนยอดเขาอันหนาวเหน็บของวงการบันเทิงเกาหลี

“บางทีฉันไม่ควรจะใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ บางทีฉันไม่ควรจะเป็นที่รู้จักบนโลกใบนี้ สิ่งที่ฉันต้องเจอนั้นมันสร้างรอยแผลในใจและความเจ็บปวดให้เป็นอย่างมาก มันสร้างความยากลำบากในชีวิตของฉันเสียเหลือเกิน…ฉันเลือกที่จะมายืนอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร”

ข้อความสุดท้ายของ คิม จงฮยอน ที่เขียนไว้ในจดหมายอำลาน่าจะสื่อถึงความเจ็บปวดภายในที่เขาไม่สามารถหลุดพ้นได้ และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความกดดันในฐานะศิลปินเกาหลีนั้น หนักหนาขึ้นทุกวัน

ความสำเร็จของวงการบันเทิงเกาหลี ทั้งซีรี่ย์ และ เพลงนับตั้งแต่ปี 1999 ทำให้ศิลปิน เคป๊อป ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบแค่ในเอเชีย แต่ยังมีบางวงที่ประสบความสำเร็จไปไกลถึงในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

หากความสำเร็จดังกล่าวดูเหมือนจะต้องแลกมาด้วยวิญญานของศิลปิน เพราะมาตรฐานที่สูงชนิดที่คนธรรมดาเอื้อมไม่ถึงคือ ตัวกำหนดความสามารถของศิลปินในเกาหลี หลายคนถูกคัดเลือกมาเพื่อเป็นศิลปินตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทีน หลายคนต้องทำศัลยกรรมหลายครั้งเพื่อให้ใบหน้าออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด หลายคนต้องอยู่ภายใต้ความควบคุมที่เข้มงวดอย่างหนักจากต้นสังกัด และ หลายคนต้องกลายเป็นวัตถุทางเพศ เพื่อให้ต้นสังกัดได้รับผลประโยชน์จากผู้สนับสนุนมากที่สุด

ซอจีวอน (ภาพจาก Youtube : giantspirit3)

คิม จงฮยอน ไม่ใช่ศิลปินรายแรกของเกาหลีที่ฆ่าตัวตาย ในปี 1996 ซอ จี วอน เป็นศิลปิน เคป๊อป รายแรกที่ฆ่าตัวตัวเมื่อวันที่ มกราคมของปีนั้น  ในจดหมายที่เขาเขียนเอาไว้นั้น ได้บรรยายถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว และ ทำให้ทุกสิ่งถาโถมเข้าหาตัว และเขาเองก็ไม่รู้จะรับมือกับมันอย่างไร สุดท้าย ซอ จี วอน ตัดสินใจอำลาโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง  19 ปี

จางจายอน (ภาพจาก : asianwiki.com)

ขณะที่ด้านนักแสดงฝ่ายหญิงมีหลายคนตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะความกดดันในการทำงานที่เห็นพวกเธอเป็นเพียงวัตถุทางเพศ “จาง จายอน” หนึ่งในนักแสดงสมทบเรื่อง “Boys over the Flower” ที่ ฆ่าตัวตายในปี 2009 นั้นเป็นโศกนาฎกรรมที่สุดสะเทือนใจหลังจากที่ผู้จัดการส่วนตัวของเธอได้ ให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า การตายของ จาง จายอนนั้น ไม่ใช่มาจากสภาวะความเครียด และกดดันจากการทำงาน หากแต่เป็นเพราะเธอถูกบังคับและข่มขู่ให้มีเพศสัมพันธ์กับผู้สนับสนุนรายใหญ่ของต้นสังกัด

เช่นเดียวกับ จอง ดาบิน นักแสดงสาว ที่ถูกต้นสังกัดบังคับให้ทำในสิ่งที่เธอไม่ต้องการ จนเป็นเหตุให้เธอต้องฆ่าตัวตายในปี  2007 ซึ่งเป็นการเสียชีวิตในปีเดียวกับนักร้องสาวอย่าง “ยูนี” ที่นอกเหนือจากความกดดันที่ได้รับจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลแล้ว ผู้จัดการของเธอก็เป็นคนเดียวกับ จางจายอน และ จอง ดาบิน ที่บังคับให้เธอต้องทำในสิ่งที่ลูกผู้หญิงไม่ต้องการทำเป็นอย่างยิ่ง

ความสำเร็จของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีที่ได้สร้างแบบฉบับของดนตรีที่เรียกว่า เคป๊อป ขึ้นมา สร้างละครที่มีชื่อเรียกกันว่า “ซีรี่ย์เกาหลี” ซึ่งทำให้ผู้คนติดกันงอมแงม ทั้งหมดคือสินค้าส่งออก เมดอิน Korea ที่คนทั้งชาติภูมิใจ หากแต่ถึงวันนี้สิ่งที่ต้องมองย้อนกลับไปในความสำเร็จ ที่ต้องแลกมาด้วยการขายวิญญานของศิลปิน คิม จงฮยอน อาจไม่ใช่รายสุดท้าย ที่ต้องทอดร่างอยู่บนยอดเขาอันเหนาวเหน็บ ของวงการบันเทิงเกาหลี