ปัญหาการคุกคามทางเพศ และแนวทางการป้องกันตัวเบื้องต้น

สถิติความรุนแรงทางเพศจากองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่า จำนวนผู้หญิงและเด็กหญิงที่เสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรม มีจำนวน 81,000 คน และมี 45,000 คนจากทั้งหมดเสียชีวิตด้วยเงื้อมมือของคู่รักหรือสมาชิกในครอบครัวตนเอง ดังนั้น บ้านอาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและเด็กเสมอไป เนื่องจากกลุ่มหลากหลายทางเพศก็ถูกกระทำด้วยเช่นกัน

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่า ปี 2565 มีรายงานเรื่องราวความรุนแรงในครอบครัว 1,131 เหตุการณ์ พบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด เป็นตัวกระตุ้นสูงถึง 347 ข่าว สาเหตุมาจาก หึงหวง ระแวง ง้อไม่สำเร็จ วิธีการที่ใช้มากสุด คือ การใช้อาวุธปืน ใช้ของมีคม และตบตีทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต

ส่วนผู้อยู่รอด ยังตามมาด้วยจิตใจแปรปวน อับอาย ตกในภาวะซึมเศร้า หวาดกลัว ท้อแท้ มีความหวาดระแวง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอาจตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ มีความเครียดทางสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตในระยะยาว สูญเสียความมั่นใจการดำเนินชีวิต กลัวสังคมไม่ยอมรับ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย แน่นอนว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงนั้นมีมากกว่าสถิติที่รายงานมาทั้งหมด เพราะยังมีผู้ถูกกระทำอีกมากที่ไม่กล้าเปิดเผย จึงส่งผลความรุนแรงยังคงต้องเผชิญกับการท้าทายถึงการใช้ชีวิตอย่างขาดคุณภาพ ทั้ง ๆ ที่ทุกคนควรมีอิสรภาพ มีความปลอดภัย มีสุขภาพที่ดี และมีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกันในทุกที่ทุกเวลา

สมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ ยังพบว่า หญิงไทยถูกล่วงละเมิดจากการถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ สุขภาพและสังคม ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน ขณะที่มีผู้หญิงเข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ เฉลี่ยรวมมากถึงปีละ 30,000 ราย ถือเป็นสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลความรุนแรงทางเพศจากข่าวหนังสือพิมพ์ ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่า ผู้ถูกกระทำมักเป็นเยาวชนในช่วงอายุ 6-20 ปี ถูกกระทำโดยคนใกล้ชิดหรือครอบครัวมากกว่าคนแปลกหน้า เนื่องจากความไว้วางใจ ทำให้เด็กเกิดความเกรงใจ เชื่อมั่นความเป็นญาติ หรือคนใกล้ชิดพบอีกว่าผู้กระทำส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 16-30 ปี ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีสถานะทางสังคมหรือมีวุฒิภาวะมากกว่า ในแทบทุกอาชีพที่อยู่ในสถานภาพมีความน่าเชื่อถือ

จึงสะท้อนให้เห็นปัญหาการคุกคามทางเพศในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดจากความรุนแรงต่อร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่การใช้อำนาจบังคับข่มขู่ จะทำได้แนบเนียนต่อเนื่องยาวนานมากกว่า ทั้งการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ความเชื่อ ค่านิยม และมายาคติแบบชายเป็นใหญ่ ทำให้ไม่กล้าลุกขึ้นมาขอความช่วยเหลือเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย

การป้องกันตัวเองจากความรุนแรงทางเพศเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรรู้และปฏิบัติตาม

  • เสริมสร้างความตระหนักรู้: เข้าใจถึงความรุนแรงทางเพศและรู้จักสิทธิและเสรีภาพทางเพศของคุณ ศึกษาเกี่ยวกับปัญหานี้และวิธีการป้องกันมัน
  • เสริมสร้างทักษะในการแก้ไขปัญหา: เรียนรู้ทักษะในการตั้งข้อสงสัย พูดออกมาเมื่อคุณรู้สึกไม่ปลอดภัย และรู้จักที่จะขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ
  • ระมัดระวังในสถานที่ที่เสี่ยง: ระมัดระวังเมื่ออยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการก่อกวนหรือการละเมิดทางเพศ เช่น ที่เดินเล่นทางสาธารณะ บาร์หรืองานเลี้ยง
  • ใช้สื่อออนไลน์อย่างระมัดระวัง: ระมัดระวังในการแชทหรือติดต่อสื่อสารกับคนที่ไม่รู้จักออนไลน์ และรักษาข้อมูลส่วนตัวของคุณอย่างปลอดภัย
  • ติดตามสถานการณ์: ระมัดระวังต่อสัญญาณที่บอกให้คุณรู้ว่าอาจมีอันตราย เช่น การรู้สึกไม่สบายในสถานที่หรือกับคนบางคน
  • สื่อสารกับคนใกล้ชิด: แบ่งปันประสบการณ์และความกังวลกับผู้อื่นที่คุณไว้วางใจ และหาคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการป้องกันตัวเอง
  • ใช้เทคโนโลยี: ใช้แอปพลิเคชันหรือเทคโนโลยีที่ช่วยให้คุณปลอดภัย เช่น แอปพลิเคชันที่ช่วยในการส่งตำแหน่งที่ตั้งหรือรับการช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน