เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีข่าวที่สะดุดหูผู้เขียน จากสถานี NHK World ของญี่ปุ่น รายงานเกี่ยวกับการคัดเลือกหนังสือที่เข้าประกวดสำหรับนักเรียนชั้นประถมและมัธยม ซึ่งจัดโดยสมาพันธ์ห้องสมุดโรงเรียนญี่ปุ่น (Japan School Library Association) อันเป็นการจัดประกวดมามากกว่าครึ่งศตวรรษ (ประมาณ 50 ปี) ต้องพบกับปัญหาของนักเขียนในโลกยุคใหม่ เมื่อมีหนังสือที่เข้าประกวดอย่างน้อย 10 เล่ม ที่ผู้เขียนไม่ได้เขียน เองหากแต่ใช้ AI ในการเขียนให้
ซึ่งเรื่องดังกล่าวส่งผลต่อการประกวดเป็นอย่างมาก เพราะคณะกรรมการที่คัดสรรได้ระบุไว้ก่อนการประกวด โดยกำหนดไว้แล้วว่า ห้ามดัดแปลง ทำซ้ำ หรือใช้เครื่องมือในการนำข้อมูลมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ซึ่งหนังสืออย่างน้อยสิบเล่มที่เข้ารอบการประกวดมานั้นถูกตัดสิทธิ์ทั้งหมด และนักเขียนเองก็ยอมรับว่าใช้ Generative AI ในการเขียนหนังสือของตนเองจริง
เห็นข่าวนี้แล้วนึกถึงอีกข่าวซึ่งเกิดขี้นในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เมื่อนักเขียนที่ได้รับรางวัล Akutagawa Prize อย่าง ริเอะ คุดัง ออกมายอมรับว่าความสำเร็จที่เธอได้รับจากหนังสือเรื่อง Tokyo-to Dojo-to (The Tokyo Tower of Sympathy) ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ Generative AI อย่าง Chat GPT ที่เธอเองในฐานะนักเขียน มักจะสอบถามข้อมูลเพื่อประกอบการเขียน หรือใช้ความคิดเห็นจาก Chat GPT ตลอดการเขียนหนังสือเล่มนี้
ซึ่งคณะกรรมการรางวัล Akutagawa Prize ที่พิจารณางานของ ริเอะ คุดัง ให้ได้รางวัลนั้นมองว่า การใช้ Chat GPT ของริเอะ ไม่ได้หมายความเธอไม่ได้เขียนงานเอง หากแต่เป็นการใช้ Chat GPT ในการหาข้อมูลเพื่อประกอบในผลงาน และผลงานการเขียนของ ริเอะ ก็มาจากไอเดียของเธอเอง
ดูเหมือนจะเป็นสองเหตุการณ์ ที่ใช้ Generative AI แล้วได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันสิ้นเชิงนะคะ แต่ถ้าพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว งานของริเอะ คุดัง เป็นลักษณะของการใช้ Chat GPT เพื่อหาข้อมูล และตรวจสอบคำผิดและสำนวน ขณะที่กรณีของหนังสือที่ถูกตัดสิทธิ์จาก “สมาพันธ์ห้องสมุดโรงเรียนญี่ปุ่น” นั้น นักเขียนใช้ Generative AI จัดการให้ทั้งเล่ม มากกว่าจะเป็นการใช้เพื่อหาข้อมูลอย่างของ ริเอะ คุดัง
อ่านสองข่าวนี้เปรียบเทียบกันแล้ว ทำให้นึกถึงบทสนทนาในสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อผู้เขียนมีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับบรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ซึ่งพูดถึงการใช้ Generative AI อย่าง Chat GPT เป็นเครื่องมือในการทำงาน บรรณาธิการท่านดังกล่าวมองว่า “Chat GPT เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อให้เราทำงานได้เร็วขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน ที่จะได้ข้อมูลตามที่ต้องการหรือ ได้บทความดี ๆ จากการพิมพ์เข้าไปใน Chat GPT เพียงครั้งหรือสองครั้ง”
ซึ่งผู้เขียนเองก็เห็นด้วยกับความคิดเห็นดังกล่าว เพราะการใช้ Generative AI แบบนี้ ผู้ใช้ต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะถาม และมีคำที่จะเป็นคีย์เวิร์ดเพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องด้วย หากไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ โดยเฉพาะการใช้เอไองานเขียนก็จะออกมาแบบที่คนอ่านก็รู้ว่าเป็นวิธีการเขียนที่ไม่ได้มาจากฝีมือของมนุษย์ เหมือนเสียงคลิปขายของในโซเชียลมีเดีย ที่ฟังออกได้ไม่ยากว่าเป็นเสียงจากปัญญาประดิษฐ์
เรื่องที่ควรกังวลใจในเวลานี้เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่เรื่องของ AI ที่จะมาแย่งงานมนุษย์ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว มนุษย์ต้องพัฒนาตนเองเพื่อบริหาร AI ส่วนเรื่องที่ควรกังวลใจ คือการใช้ AI ไปในทางที่ผิดและไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องที่ผิด เพราะนั่นเท่ากับว่าคุณได้โกงระดับสติปัญญาของตนเอง และกลายเป็นเครื่องมือในการพัฒนาให้ AI ฉลาดกว่าคุณ
แม้ว่าหนังสือ “21 บทเรียนของศตวรรษที่ 21” (21 Lesson for 21st Century) ของยูวัล โนอาห์ จะเขียนถึงพัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์และอัลกอริทึม ที่จะพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนทำให้คนอ่านหลายคนกลัวว่าวันหนึ่ง ทั้งสองสิ่งจะครองโลกและครอบงำคน (ที่ไม่มีความรู้)
หากแต่ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ยังได้เขียนถึงทางออกจากการควบคุมของอัลกอริทึมและเอไอเอาไว้ด้วย แม้จะดูเป็นนามธรรม แต่ทางออกที่ยูวัลเขียนเอาไว้ เป็นคำตอบของความวุ่นวายในทุกวันนี้จริง ๆ เขาเขียนเอาไว้ว่า “คุณต้องวิ่งให้เร็วกว่าอัลกอริทึม เร็วกว่าอะแมซอนและรัฐบาล และต้องรู้จักตนเองก่อนที่พวกเขาจะรู้” ย้ำอีกครั้งค่ะว่า “คุณต้องรู้จักตนเองให้ถึงก้นบึ้ง” ถึงจะรอดจากการติดตามของอัลกอริทึม การใช้เอไอเพื่อให้ชีวิตสะดวกสบาย เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนอยู่ภายใน หากเรารู้จักตนเองมากเท่าใด เทคโนโลยีก็เข้ามาแฮกชีวิตของคุณได้ยากเท่านั้น…เริ่มต้นทำความรู้จักกับตนเองดูนะคะ
แล้วพบกับใหม่สัปดาห์หน้า