การอ่านหนังสือ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างไร

บุคคลที่ประสบความสำเร็จระดับโลก ไม่เคยเว้นว่างจากการอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นวอร์เรน บัฟเฟตต์, บิล เกตส์ หรือมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก พวกเขาเหล่านี้ต่างมีนิสัยที่เหมือนกันอยู่หนึ่งข้อ นั่นก็คือการให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือ เพราะความรู้ที่ได้จากหนังสือ ช่วยให้พวกเขาเพิ่มคลังความรู้ในสมองอย่างต่อเนื่อง หากจำเป็นต้องดึงเอาข้อมูลใดสักอย่างมาใช้แก้ปัญหา ก็สามารถไปรื้อเอาจากในคลังความรู้ได้เลย นั่นหมายความว่าหนังสือ ช่วยให้พวกเขาพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งไม่ใช่แค่ทำให้เรามีความรู้หรือข้อคิดต่าง ๆ มากขึ้น แต่ยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีขึ้น กระตุ้นการทำงานของสมอง พัฒนาความจำ และได้แรงบันดาลใจ!

ในเมื่อการอ่านมีความสำคัญและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาตนเอง ซึ่งถ้าอยากประสบความสำเร็จ การฝึกให้ตัวเองมีนิสัยรักการอ่านเป็นหนึ่งในวิถีทางที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ในยุคที่สังคมโลกเป็นยุคของ “ข่าวสารข้อมูล” การอ่านยิ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากขึ้น ใครที่อ่านหนังสือได้เร็วจึงได้เปรียบกว่าคนที่อ่านหนังสือได้ช้ากว่า เพราะคุณจะได้รับรู้ข้อมูลเหล่านั้นก่อนคนอื่น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สังคมไทยค่อนข้างที่จะเพิกเฉยต่อการอ่านอยู่พอสมควร แม้ว่าข้อมูลข่าวสารทั้งหลายจะเปลี่ยนรูปแบบจากสิ่งตีพิมพ์ไปเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้เสพได้ง่ายขึ้น แต่คนจำนวนไม่น้อยดูจะถูกใจการเล่นโซเชียลมีเดียในแง่ของการเสพความบันเทิงและดราม่ามากกว่า จากจำนวนคนที่ “อ่าน” ที่มีอยู่ไม่มากนัก ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก ขนาดแคปชันสั้น ๆ ตามโพสต์ขายของต่าง ๆ บางทียังไม่อ่านกันเลยก็มี นอกจากนี้ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยในสังคมที่ประสบปัญหาในการอ่าน อ่านหนังสือไม่แตก อ่านจับใจความไม่ได้ ตีความไม่เป็น คลังศัพท์น้อย หรือแม้กระทั่งอ่านไม่ออก อ่านผิด ๆ ถูก ๆ ก็มีอยู่เยอะเช่นกัน

การมาของเทคโนโลยี ทำให้โอกาสในการอ่านหนังสือของเราลดน้อยลง เพราะเราสามารถหาคำตอบของสิ่งต่าง ๆ ได้จากอินเทอร์เน็ต สงสัยอะไรก็ไม่จำเป็นต้องวิ่งไปห้องสมุดอีกต่อไป หรือไม่จำเป็นต้องไปรื้อตู้หนังสือที่จำได้ลาง ๆ ว่าเคยอ่านเจอจากเล่มไหนสักเล่มบนชั้น การหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาเสิร์ชมันเร็วและสะดวกกว่ากันมาก หาคำตอบได้จากทุกที่และทันทีในวินาทีที่เราสงสัย

ถึงอย่างนั้น การอ่านหนังสือเป็นเล่ม ๆ กลับช่วยให้จดจำหรือเก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้ดีกว่าการอ่านจากหน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือนั้นแตกต่างจากการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตซึ่งสามารถลบและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ข้อมูลที่ถูกพิมพ์ลงไปในหน้ากระดาษแล้วนั้น มันต้องมีการตรวจสอบข้อมูลกันอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากกว่าสื่ออื่น ๆ ดังนั้น มันคงจะดีกว่าถ้าเราจะลองหันมาอ่านหนังสือเล่ม ๆ กันอีกครั้ง

อยู่ห่างจากความเครียด

ใคร ๆ ก็รู้ว่าความเครียดในระดับสูงและความเครียดเรื้อรังเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การที่สุขภาพจิตย่ำแย่จากความเครียด จะส่งผลกระทบไปที่สุขภาพกาย อย่างไรก็ตาม การฝึกตนเองให้มีนิสัยรักการอ่าน อ่านอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ช่วยให้เราห่างไกลจากความเครียดได้

ผลการทดลองของ University of Sussex โดยนายแพทย์ David Lewis นักประสาทจิตวิทยา ที่ทำการทดลองไว้เมื่อปี 2009 พบว่าระดับความเครียดของคนเราสามารถลดลงได้มากถึง 68 เปอร์เซ็นต์ จากการอ่านหนังสือเพียง 6 นาทีเท่านั้น ซึ่งลดความเครียดได้ดีกว่าการออกไปเดินเล่นหรือฟังเพลงเสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ไม่สำคัญว่าหนังสือที่อ่านเป็นหนังสืออะไร เพราะประเด็นสำคัญ อยู่ที่การจดจ่อกับการอ่านต่างหาก ที่จะช่วยให้เราหลุดพ้นจากโลกแห่งความวิตกกังวลและความเครียดที่พบเจอทุกวัน รวมถึงได้ปลดปล่อยตัวเองไปกับจินตนาการของผู้เขียนหนังสือนั้น ๆ ด้วย การที่เราไม่เครียดมากจนกระทบกับสุขภาพ คุณภาพชีวิตของเราก็จะดีตาม

ช่วยให้มีสติและสมาธิ

การอ่านหนังสือ ช่วยในการฝึกสติและสมาธิได้เป็นอย่างดี เพราะการอ่านหนังสือแต่ละครั้ง เราจำเป็นต้องมีสติและสมาธิเพื่อที่จะสามารถจดจ่อกับตัวหนังสือได้เป็นระยะเวลานาน ๆ อีกทั้งเรายังไม่สามารถที่จะทำกิจกรรมอื่นควบคู่ไปกับการรับสารด้วยการอ่าน เหมือนการดูและการฟัง ยิ่งถ้าหากเป็นการอ่านแบบเอาเรื่อง อ่านแบบทำความเข้าใจ อ่านแบบเก็บรายละเอียด ยิ่งจำเป็นต้องจดจ่อและมีสมาธิกับการอ่านให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะเมื่อไรที่การจดจ่อเริ่มหลุด เราก็จะอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง อ่านไปก็ไม่ได้อะไรเลย

การอ่านหนังสือช่วยพัฒนาเรื่องการมีสติและสมาธิได้อย่างไร ในขณะที่เราอ่านหนังสือ เราจะได้คิดทบทวน วิเคราะห์ และจดจ่ออยู่กับหน้าหนังสือไปทีละหน้า ๆ เป็นเวลานาน เท่ากับเรากำลังฝึกสมองให้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น และเมื่อเราจดจ่อกับการอ่านหนังสือจนมีสมาธิ สมองเข้าสู่ภาวะผ่อนคลาย จิตใจจะสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน และเมื่อฝึกไปบ่อย ๆ ฝึกนาน ๆ เพิ่มเวลาและจำนวนหน้าหนังสือไปทีละนิด ๆ จนสามารถอดทนต่อการอ่านหนังสือได้นานขึ้น เราจะกลายเป็นคนที่มีทักษะในการจัดการกับความคิดและปัญหายุ่งยากต่าง ๆ ด้วยสติและปัญญาที่มากกว่าเดิม

พัฒนาความเข้าใจและความจำ

ยิ่งอ่านก็ยิ่งจดจำ เคยรู้สึกชอบภาพยนตร์เรื่องไหนมาก ๆ จนเปิดวนดูซ้ำหลายรอบไหม มันทำให้เราจดจำได้ว่าตัวละครมีบทพูดว่าอะไร หรือมีอะไรเกิดอะไรขึ้นในฉากนั้นบ้าง ซึ่งก็เป็นปรากฏการณ์เดียวกัน โดย “กระบวนการอ่าน” ระหว่างที่ตาเห็นตัวอักษร สมองส่วนหนึ่งจะถูกใช้ไปกับการอ่านคำที่ถูกร้อยเรียงเป็นรูปประโยคยาว ๆ สมองอีกส่วนจะพยายามถอดตัวอักษรที่เป็นรูปประโยคยาว ๆ นั้นให้ออกมาเป็นภาพเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ทำให้ระหว่างนั้น สมองจะเริ่มจดจำข้อมูลต่าง ๆ ที่ตาเห็นและได้ประมวลผลตามกระบวนการดังกล่าว

นั่นหมายความว่าหากเราอ่านวนซ้ำกับหนังสือที่เราชอบ อ่านครั้งแรกอาจจะจดจำได้น้อยมาก แต่ถ้าหยิบมาอ่านซ้ำ ๆ บ่อย ๆ เราก็จะพบว่าเราสามารถจดจำเรื่องราวที่ร้อยเรียงด้วยตัวหนังสือได้มากขึ้น และเกิดความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ มากขึ้นกว่าการอ่านจบในรอบแรก ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาสมองด้วย การฝึกอ่านหนังสือเป็นประจำ สมองก็จะได้ใช้งานอยู่ตลอด เกิดความจดจำ ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อม และยิ่งถ้าเพิ่มการเขียนเข้าไปด้วย จะเป็นการฝึกการสั่งการจากสมองลงไปที่นิ้วของเรา ถึงจะเป็นวิธีที่ดูโบราณไปหน่อย แต่มันก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีจริง ๆ

จุดประกายความคิดสร้างสรรค์

ความคิดสร้างสรรค์สำคัญแค่ไหน ทำไมจะต้องมีด้วย จริง ๆ ต้องบอกว่าความคิดสร้างสรรค์มันค่อนข้างสำคัญกับคนวัยทำงานมาก ๆ เพราะการทำงานในหลาย ๆ สายงาน จำเป็นต้องใช้ความคิดที่แปลกใหม่และน่าสนใจ ความคิดสร้างสรรค์คือจุดกำเนิดของสิ่งนั้น อย่างไรก็ตาม การอ่านหนังสือให้เป็นนิสัยสามารถช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับเราได้ เพราะการอ่านจะทำให้เราได้ฝึกหัดสร้างจินตนาการจากตัวหนังสือให้เกิดขึ้นเป็นภาพในสมอง โดยเราสามารถจินตนาการได้อย่างไร้ขอบเขตโดยไม่ถูกจำกัดความคิด

บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรรค์ ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ที่เคยสร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสุดเจ๋งที่มีใช้อยู่บนโลกนี้ตอนนี้เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับพวกเราทุกคน ไอเดียบางอย่างอาจจะเคยดูเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ หรือบางไอเดียเราอาจจะไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีคนคิดทำ นี่แหละคือความคิดสร้างสรรค์ แน่นอนว่าเราคงไม่ต้องถึงขั้นที่สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์อะไรใหม่ ๆ แล้วทิ้งไว้เป็นประโยชน์กับคนรุ่นหลังก็ได้ เพียงแต่นำไปใช้ทำงานในส่วนของตนเองก็พอแล้ว

ช่วยให้ฉลาดขึ้น

การที่คนเรา “ไม่รู้” ไม่ใช่เรื่องผิด แต่คนเราสามารถเปลี่ยนตัวเองจากคน “ไม่รู้” ให้เป็นคนที่ “รู้” ได้ตลอดเวลาด้วยการอ่านหนังสือ เพราะการอ่านหนังสือคือการเติมอาหารให้สมอง ไม่ว่าหนังสือที่คุณอ่านจะเป็นหนังสืออะไร มีสาระหรือไม่มีสาระก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ มันสำคัญแค่ว่าคุณต้องการติดอาวุธทางปัญญาให้ตัวเอง เพื่อที่สักวันคงจะได้รื้อ ๆ นำมาใช้ได้จริงบ้างหรือเปล่า หรืออย่างน้อย ๆ ก็เพื่อต้องการรู้ข่าวสารที่เกิดขึ้นในแต่ละวันก็ได้ จะได้มีอะไรไปเล่าให้คนในวงข้าวฟัง

เมื่อเราอ่านหนังสือ เราจะได้ความรู้และไอเดียอะไรดี ๆ เพิ่มมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น การอ่านจึงถือเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด เราสามารถหาความรู้ใส่สมองได้ง่าย ๆ เพียงแค่อ่านหนังสือ ซึ่งการอ่านหนังสือนั้นก็เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำได้ ไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงแค่อ่านหนังสือออกเท่านั้น ดังนั้น อาวุธทางปัญญาที่ว่า แท้จริงแล้วหาได้ไม่ยากเลย

ฝึกทักษะการคิดแบบมีวิจารณญาณ

“นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร” วรรคทองจากคำสอนของ อ.ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวอิตาลี ที่เข้ามารับราชการในเมืองไทยจนกระทั่งเป็นปูชนียบุคคลแห่งวงการศิลปะไทย ที่ทำให้เราเห็นความสำคัญของการอ่านแบบขั้นสูง จะช่วยพัฒนาทักษะการคิดแบบมีวิจารณญาณ ความเป็นเหตุเป็นผล รู้จักใช้การคิดแบบวิเคราะห์ สังเคราะห์ ในสิ่งที่ตนเองอ่าน วินิจฉัยในสิ่งที่ได้รับรู้ เพราะยิ่งอ่านมากก็ยิ่งรู้มาก เกิดความคิดหลากหลายแง่มุมให้นำมาประกอบกัน มีข้อมูลในการแยกข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น แม้กระทั่งเรื่องจริงกับเรื่องเท็จออกจากกัน

การอ่าน เป็นการหาความรู้ใส่ตัวจากหนังสือที่จะทำให้เราได้เปิดโลกกว้างผ่านตัวอักษร การอ่านขั้นสูง ที่มีการใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ด้วยวิจารณญาณ จะทำให้เราเข้าใจนัยสำคัญที่แฝงอยู่ในตัวอักษรมากกว่าที่คนอื่นเข้าใจ ถ้าหากเรามีพฤติกรรมที่ไม่ได้ชอบอ่านหนังสือนัก ทักษะการคิดวิเคราะห์ตามข้อมูลที่ได้รับมาจะมีน้อยลง เราจะสามารถเชื่อข่าวลือข่าวลวงได้ในทันทีที่ได้รับสาร ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ๆ โดยเราจะสามารถมองเห็นทัศนคติของคนรอบข้างผ่านสิ่งที่พวกเขาพูดหรือเขียนได้

พัฒนาทักษะการเขียน

ผู้ที่เขียนหนังสือได้ดีมักเป็นผู้ที่รักการอ่าน อ่านมากจนเกิดความช่ำชองในการใช้ภาษา มีวัตถุดิบ มีตัวอย่างสำนวนที่ตัวเองชื่นชอบ อ่านแล้วรู้สึกประทับใจ ดังนั้น ก่อนจะเป็นนักเขียนที่ดีได้ จะต้องเป็นนักอ่านที่ดีมาก่อน การอ่านไม่ได้ให้แค่ความรู้จากหน้าหนังสือ แต่ยังทำให้คลังคำศัพท์ของเราเพิ่มขึ้น มีสำบัดสำนวนต่าง ๆ ที่นำมาดัดแปลงพลิกแพลงใช้ประโยชน์ได้ การหลากคำ ลูกเล่นทางภาษา ใช้ภาษาสละสลวย ที่สำคัญคือสามารถโน้มน้าวใจผู้อ่านให้รู้สึกคล้อยตามได้ จุดนี้จะทำให้งานเขียนมีเสน่ห์ อ่านสนุก ไม่น่าเบื่อ และเข้าถึงคนเสพงานได้ดีขึ้น

เมื่อการอ่านกับการเขียนมีปฏิสัมพันธ์กันและกัน คือการอ่านก็ช่วยพัฒนาการเขียน การเขียนก็ช่วยพัฒนาการอ่าน และทั้งการอ่านและการเขียนก็ช่วยพัฒนาการคิด นั่นหมายความว่าความรู้จากการอ่านหนังสือจะนำไปใช้พัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นในอนาคตได้อีกด้วย โดยเฉพาะทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการสำหรับอาชีพต่าง ๆ เพราะมันมีทิศทางที่จะเปลี่ยนไปเป็น Soft Skill หรือทักษะทางสังคมได้ ซึ่งทักษะเหล่านี้สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้จากการอ่านหนังสือ

ดีต่ออารมณ์ จิตใจ และการนอนหลับ

การอ่าน ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ให่ได้ความรู้หรือเพื่อเติมอาหารให้กับสมองเท่านั้น แต่ยังมีการอ่านเพื่อจรรโลงใจด้วย การอ่านหนังสือบางประเภทให้ความสุข มีความเพลิดเพลิน ทำให้เเกิดความจรรโลงใจ เกิดความเข้าใจความเป็นปกติธรรมดาของโลกและชีวิต ได้มุมมองในสิ่งที่เราไม่เคยรู้ การอ่านนั้นดีต่อใจมากกว่าที่คิด

นอกจากนี้ หลายคนอาจมีประสบการณ์ด้วยตัวเองมาแล้ว ว่าการอ่านหนังสือคือยานอนหลับขนานดี คุณอาจจะกำหนดเป้าหมายว่าจะอ่านหนังสือก่อนนอนให้ได้สัก 20 หน้า แต่บางครั้งคุณก็พบว่าตัวเองไปไม่ถึงเป้าหมาย แค่ 6-7 หน้าคุณก็เริ่มเข้าสู่ภาวะผ่อนคลาย เริ่มง่วงนอนจนต้องเข้านอนในทันที หลับสนิท หลับสบาย ซึ่งแน่นอนว่าถ้าคุณมีการนอนหลับที่ดีขึ้น เมื่อตื่นมาใช้ชีวิตประจำวันคุณก็จะกระปรี้กระเปร่า ไม่อ่อนเพลีย รู้สึกว่าพักผ่อนเพียงพอ และห่างไกลจากโรคร้ายที่เป็นผลมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอด้วย

การอ่านมาก ๆ ช่วยให้เราอ่านหนังสือได้ดีขึ้น

การฝึกอ่านมาก ๆ นำมาซึ่งทักษะการอ่านที่ดีขึ้น จากการอ่านขั้นธรรมดา นำไปสู่การอ่านหนังสือได้แตกฉาน จับใจความได้ดี ตีความออก โดยเฉพาะการเข้าใจความหมาย “ระหว่างบรรทัด” ซึ่งจะมีเฉพาะคนที่อ่านหนังสือเยอะเท่านั้นที่จะมองเห็นความงดงามของสารที่อยู่ระหว่างบรรทัดของตัวหนังสือ สารที่ไม่ได้มีตัวอักษรให้อ่าน แต่เราจะอนุมานได้ผ่านการอ่านรวม ๆ โดยที่สมองเราจำเป็นจะต้องดึงข้อมูลบางอย่างที่ถูกเก็บไว้ในคลังประสบการณ์ขึ้นมาตกผลึกประกอบการอ่านด้วย

การมีประสบการณ์ชีวิตไม่เหมือนกันและมีคลังความรู้ในสมองต่างกัน มีผลต่อการอ่านตีความระหว่างบรรทัดได้ลึกซึ้งแตกต่างกันตามไปด้วย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคนเราอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน หน้าเดียวกัน ย่อหน้าเดียวกัน แต่ตีความออกมาได้ไม่เหมือนกัน บางคนเข้าใจความหมายลึกซึ้งที่ถูกแฝงไว้ แต่บางคนรับสารได้แบบผิวเผินแค่ตามที่ตัวอักษรปรากฏให้อ่านเท่านั้น การอ่านหนังสือให้มากจึงช่วยพัฒนาการอ่านของเราให้ไปสู่ขั้นสูงได้