ขับ MG4 ไปเติมไฟที่พนมสารคาม

ถือเป็นอีกครั้งที่ผมมีโอกาสได้ทดสอบรถไฟฟ้าแบบอยู่กันยาว ๆ 1 สัปดาห์ กับเจ้า MG4 Electric รถขับเคลื่อนไฟฟ้าล้วนอีกหนึ่งรุ่นของค่ายเอ็มจี ซึ่งรถรุ่นนี้ผมเคยได้ทดลองขับในช่วงสั้น ๆ สมัยที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ 9 เดือนที่แล้ว แต่มารอบนี้ได้ลองขับทั้งเส้นทางในกทม. รวมถึงออกต่างจังหวัดไปหาสถานีชาร์จที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

ข้อมูลของ MG4 ผมเชื่อว่าใครที่ติดตามข้อมูลเรื่องรถ EV อยู่แล้ว ก็น่าจะได้เห็นรีวิวจากสื่อหลากหลายเจ้ากันมาพอสมควรนะครับ ซึ่งผมจะเล่าประสบการณ์จากที่ได้ขับและใช้รถรุ่นนี้เป็นเวลาเกือบ 1 วีคมาแชร์ข้อมูลเพิ่มเติมก็แล้วกันครับ โดยเฉพาะการเดินทางต่างจังหวัดที่จำเป็นต้องวางแผนและคำนวณเรื่องการชาร์จไฟให้ดี

ก่อนออกเดินทาง ผมเองพยายามเตรียมความพร้อมด้วยการชาร์จไฟให้พร้อมที่สุด ตัวเลขแบตเตอรี่โชว์ว่ามีไฟอยู่ 90 เปอร์เซ็นต์ วิ่งได้ราว 300 กิโลเมตร จริง ๆ แล้วตัวเลข 300 กิโลเมตร ไป-กลับ จากรามอินทรา-พนมสารคามได้สบายนะครับ แต่ในความเป็นจริง เวลาเราเดินทางไกล เราไม่ได้ขับตามเส้นทางหลักอย่างเดียว มันจะต้องมีแวะที่นั่น ที่นี่ ซึ่งนี่คือความแตกต่างระหว่างการขับที่เติมน้ำมันกับรถที่ชาร์จไฟ เพราะการเจอปั๊มน้ำมันไม่ได้หมายความว่าทุกปั๊มจะต้องมีสถานีชาร์จ EV

และถึงจะเจอปั๊มที่มีสถานีชาร์จก็จริง แต่ถ้าคุณไม่จองมาหรือมาในช่วงที่คันอื่นกำลังชาร์จอยู่คุณก็ชาร์จไม่ได้อยู่ดี คืนวันเสาร์ที่ผมไปถึงและขับรถเข้าที่พัก แบตเตอรี่โชว์อยู่ที่ 45 เปอร์เซ็นต์ วิ่งได้อีกราว 150 กิโลเมตร และสีบนหน้าจอเปลี่ยนจากเขียวเป็นเหลือง ซึ่งหากดูจากจำนวนระยะทางที่วิ่งต่อได้ มันก็เยอะอยู่ แต่ในใจรู้สึกหวาดเสียวเล็กน้อย (ฮา ๆ)

สายวันอาทิตย์หลังจากเดินทางไปร่วมงานแต่งงานที่อำเภอพนมสารคาม ผมก็เลยใช้โอกาสในช่วงกลางวันขับย้อนกลับมาชาร์จ ณ ปั๊มที่เล็งเอาไว้ตั้งแต่ก่อนออกจากกทม. โดยทริปนี้ผมใช้แอปฯ EV Station Plz ของปตท. เป็นหลัก เพราะหาได้ง่ายที่สุด ซึ่งระบบใหม่ของแอปฯ นี้ผมว่าดีขึ้นจากเดิมเยอะนะ

โดยเฉพาะระบบการชาร์จต่อเนื่องหากไม่มีคนมากดจองเข้ามาชาร์จต่อ เพราะก่อนหน้านี้ระบบชาร์จจะตัดทุก 27 นาที มาครั้งนี้ผมกดจองหัวชาร์ตแบบ DC Combo ไว้ 2 สลอตเวลาต่อเนื่องกัน ในช่วง 11.30-12.00 น. และ 12.00-12.30 น. ซึ่งเมื่อขับไปถึงเวลาประมาณ 11.10 น. มีรถ 1 คันก่อนหน้า กำลังจอดและเสียบสายชาร์จ

ต้องบอกว่าพอระบบไม่มีปัญหา และเจ้าของรถเข้าใจเรื่องสลอตเวลาในการชาร์จ ทุกอย่างก็ราบรื่นครับ โดยคันก่อนหน้าผมขับเข้ามาชาร์จแบบ walk-in ซึ่งทำให้เขาชาร์จได้ราว 20 นาที ก่อนที่เจ้าของรถท่านนั้นจะถอยออกเพื่อให้คันของผมเข้ามาชาร์จแทนตามเวลาที่จองไว้

การชาร์จไฟรอบนี้ ใช้เวลาต่อเนื่อง 1 ชั่วโมง ได้ไฟเข้ารถ 30.1 kWh ราคารวม Vat 7% อยู่ที่ 125.55 บาท และทำให้แบตเตอรี่ขยับจาก 40 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป 99 เปอร์เซ็นต์ หน้าจอแสดงผลบอกว่าจะวิ่งได้ 353 กิโลเมตร ซึ่งสามารถขับไปเที่ยวคาเฟ่ในจังหวัดรวมถึงขับกลับกทม. ได้แบบสบายใจ ส่วนปัญหาสถานีชาร์จต่างจังหวัดชั่วโมงนี้ ถ้าวางแผนดี ไม่มีปัญหาแน่นอน

ตลอดทริปผมเลือกโหมดขับขี่เป็บแบบ NORMAL จากที่ MG4 รุ่นนี้มีให้เลือกถึง 5 โหมดคือ ECO, NORMAL, SPORT, CUSTOM และ SNOW ส่วนระบบ KERS หรือการชาร์จไฟกลับ ก็เลือกเป็นระดับ 2 ซึ่งก็ยังมีความหน่วงอยู่เล็กน้อย และจะรู้สึกสะดุดทุกครั้งในช่วงที่ทำความเร็วแต่ต้องยกคันเร่ง อาทิ ช่วงขึ้นและลงสะพาน ซึ่งคนนั่งหลังมีมึนแน่นอน

การขับ MG4 Electric ในรอบนี้ สิ่งที่ผมชอบคือ ช่วงล่างของรถที่ขับเคลื่อนล้อหลัง รู้สึกขับสนุก รวมถึงไม่มีเสียงมอเตอร์วี๊ด ๆ ในช่วงความเร็วต่ำเหมือนใน ZS EV ส่วนที่ขอติ คือ เมนูต่าง ๆ ที่หน้าจอค่อนค้างซับซ้อนและตัวเล็กไปหน่อย สรุปทริปพนมสารคามรอบนี้ คนขับขับสนุก คนนั่ง (เบาะหลัง) บ่นเล็กน้อย

เอาเป็นว่าใครที่กำลังมองรถ EV อยู่ ก็ลองเอา MG4 Electric ไปเป็นหนึ่งในตัวเลือกดูแล้วกันครับ เพราะราคาล่าสุดหั่นลงจากเดิม 1 แสนบาท ส่งผลให้ 2 รุ่นย่อยเหลือ 769,000 และ 869,000 บาท แล้วพบใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ