พาชมนิทรรศการ “สูงวัย…ขยาย (ความ)” เมื่อความแก่มาเยือนเราทุกวินาทีที่ผ่านไป

แก่ตัวไปสภาพของฉันจะเป็นอย่างไร? เชื่อได้เลยว่านี่คือคำถามที่คนวัย “ยังไม่ชรา” มักแอบคิดกับตัวเองอยู่ในใจบ่อยครั้ง พร้อมคาดหวังว่าตนเองจะเป็นคนแก่ที่ยังเก๋า คนแก่ที่อายุมากแต่ยังแข็งแรง คนแก่ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้แม้ว่าจะอยู่ตามลำพังและจากไปอย่างสง่างาม คนแก่ที่จะไม่ทำตัวเป็นมนุษย์ลุง-มนุษย์ป้าแบบที่ตัวเองเคยมีเรื่องด้วย และอีกหลากหลายความคาดหวัง อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนมันจะเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก เพราะกว่าแต่ละคนจะผ่านล่วงถึงวัยที่เรียกตัวเองได้เต็มปากว่าเป็นผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เรายังต้องดิ้นรนใช้ชีวิต สั่งสมประสบการณ์ และสร้างภูมิต้านทานต่าง ๆ กันอีกมากมายหลายปี มีปัจจัยเยอะแยะที่จะหล่อหลอมให้เราเป็นคนแก่ตามที่หวัง (หรือไม่ก็ได้)

แม้ว่ามันจะเป็นคำพูดแสลงหูไม่น่าฟัง แต่ข้อเท็จจริงของชีวิตมนุษย์ก็คือ เราแก่ตัวลงในทุก ๆ วินาทีที่เวลาผ่านไป การเดินหน้าสู่อนาคตมีแต่จะทำให้อายุของเรามากขึ้น ๆ ถึงอย่างนั้นเรามีมุมมองเกี่ยวกับความสูงวัยว่าอย่างไรกันบ้าง และความสูงวัยในระดับปัจเจกบุคคลกับความสูงวัยในระดับสังคมอย่าง “สังคมผู้สูงวัย” แบบที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่มันเหมือนหรือแตกต่างกันในแง่มุมไหนบ้าง เป็นเรื่องที่คนยังไม่แก่ต้องหาข้อมูลและเตรียมวางแผนชีวิต ว่าหากอยากโตไปเป็นคนแก่ในแบบที่ตัวเองปรารถนา จำเป็นต้องมีปัจจัยอะไรมาสนับสนุนบ้าง หรือเพื่อให้เข้าใจบริบทต่าง ๆ ของผู้สูงวัยมากขึ้นว่าปัจจุบันชีวิตของผู้สูงวัยเป็นแบบไหน

Tonkit360 จึงจะพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปชมนิทรรศการ “สูงวัย…ขยาย (ความ)” Blowing Up The Tale of Ageing Society นิทรรศการที่ถ่ายทอดศิลปะร่วมสมัยบนพื้นฐานแนวคิดของสถานการณ์ “สังคมผู้สูงวัย” ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยจะเป็นการสำรวจแนวความคิด ทัศนคติที่มีต่อสภาวะสังคมผู้สูงวัย ทำความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ซึ่งได้มีการรวบรวมประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เพื่อนำเสนอบริบทของสังคมสูงวัยผ่านกรอบคิด 4 มิติ ได้แก่ สุขภาวะพลานามัย เศรษฐกิจและนวัตกรรม สังคมความเสมอภาค และสภาพแวดล้อมทางกายตลอดจนการเข้าถึงหลักประกันในชีวิต

เป้าหมายของนิทรรศการนี้ ก็เพื่อสร้างความเข้าใจและชี้ให้ตระหนักถึงผลกระทบจากวิกฤติสังคมผู้สูงวัย โดยถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยและสื่อสร้างสรรค์จากศิลปินนักสร้างสรรค์หลากหลายสาขา ใช้ผลงานศิลปะในการกระตุ้นความคิด การตั้งคำถาม และการปรับประยุกต์เข้ากับสถานการณ์ ผ่านการตีความหมายหลากหลายมิติทางสังคม

นิทรรศการ “สูงวัย…ขยาย (ความ)” จัดแสดงระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2566 – 26 พฤศจิกายน 2566
ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น. (หอศิลปกรุงเทพฯ หยุดทุกวันจันทร์)

สถานการณ์ผู้สูงวัยในประเทศไทย

หลายคนน่าจะทราบดีว่าประเทศไทยได้เดินทางมาถึงยุคของสังคมสูงวัยอย่างอย่างสมบูรณ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน สังคมไทยมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางสัดส่วนประชากรเช่นนี้อย่างไรบ้าง ทั้งระดับภาครัฐและปัจเจกบุคคล มีการสร้างสมดุลระหว่างความหลากหลายช่วงวัยในสังคมอย่างไร นิทรรศการนี้จึงจะชวนทุกคนมาร่วมกันจุดประกายความคิดและตั้งคำถามในหลากประเด็นเกี่ยวกับสังคมผู้สูงวัย ผ่านผลงานศิลปะที่ตีความหมายในหลากหลายมิติสังคมได้อย่างน่าสนใจและแยบยล มองภาพความ “สูงวัย” ให้เข้าใจในทุกมิติ เพราะการเข้าสู่สังคมสูงวัย มันไม่ใช่แค่เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสัดส่วนประชากรเพียงผิวเผิน แต่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ทัศนคติ ค่านิยม สังคม ประเพณี เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตใหม่ในทุกช่วงวัยที่แตกต่างด้วย

จุดเริ่มต้นของสังคมผู้สูงวัยในปีพ.ศ. 2566 นี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อ 60 ปีก่อน คือในปี พ.ศ. 2506 ซึ่งเป็นปีที่มีปรากฏการณ์ “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” ที่พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเกิดของเด็กจำนวนมากถึง 1,000,000 คน ในช่วงปี พ.ศ. 2506-2526 แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประชากรกลุ่มนี้กลับกลายเป็น “สึนามิประชากร” ที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ฝั่งผู้สูงวัย ในปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจะเป็นปีที่ประชากรรุ่นเกิดล้านครบอายุ 60 ปีพอดี และจะทยอยกันเคลื่อนเข้าสู่ฝั่งผู้สูงวัยระดับสุดยอดราว ๆ ปีพ.ศ. 2573 นี่เป็นจุดเริ่มต้นในการจัดแสดงนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับผู้สูงอายุไทย

สถิติผู้สูงอายุ รวบรวมจากข้อมูลของกรมการปกครอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ประชากรทั้งประเทศมีจำนวน 66,090,475 คน นับเป็นผู้สูงวัย (อายุเกิน 60 ปี) จำนวน 12,519,926 คน เป็นประชากรหญิง 7,007,703 คน และประชากรชาย 5,512,223 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.94 ต่อจำนวนประชากร โดยข้อมูลนี้อาจยังไม่รวมประชากรสูงวัยที่ตกสำรวจ จึงทำให้จำนวนสัดส่วนประชากรสูงวัยอาจมีมากถึงร้อยละ 20 ต่อจำนวนประชากร และจากจำนวนสัดส่วนประชากรสูงวัยข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ของไทยกำลังเข้าใกล้สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society)

นิทรรศการ “สูงวัย… ขยาย (ความ)” มีอะไรให้ชมบ้าง

นิทรรศการ “สูงวัย… ขยาย (ความ)” จัดขึ้น ณ ห้องนิทรรศการหลักชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อขึ้นไปถึงชั้น 9 แล้ว จะพบว่าทั้งชั้นเป็นพื้นที่ของการแสดงนิทรรศการ “สูงวัย… ขยาย (ความ)” โดยจะแบ่งพื้นที่นิทรรศการจัดแสดงผลงานจากศิลปิน 12 ท่าน ดังนี้

ภูมิปัญญาการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย ผลงานของพระไพศาล วิสาโล

เป็นคลิปวิดีโอเทศนาธรรมทางพระพุทธศาสนาความยาวประมาณ 40 นาที ใจความสำคัญอยู่ที่ความไม่เที่ยงของสังขาร เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลง อะไร ๆ ก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะสภาพร่างกายที่นับวันมีแต่จะเสื่อมสภาพ อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ชีวิตกลับยิ่งเข้มข้นตามอายุ ภูมิปัญญาจะช่วยให้บรรดาผู้สูงอายุสามารถเข้าใจชีวิตและโลกได้มากขึ้น รวมถึงมีความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ เพราะประสบการณ์ชีวิตได้เสริมสร้างภูมิต้านทานต่อเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา และเมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว จะตระหนักได้เองว่าความธรรมดานี่แหละที่มีความสุขที่สุด ต้องไม่ลืมว่าตัวเองเหลือเวลาอยู่บนโลกนี้น้อยเต็มที จงมีความสุขอยู่กับปัจจุบัน เลิกเสียเวลากับความทุกข์ และปล่อยวางให้เป็น

อาร์ ไอ พี (เกิดใหม่ในเศษ-ทราก) ผลงานของสุพรรณิการ์ ติรณปริญญ์

เป็นศิลปะสื่อผสม จัดแสดงผลงานด้วยถ้วยชามรามไหที่แตกร้าวยับเยิน อย่างไรก็ตาม เซรามิกทุกชิ้นถูกซ่อมแซมด้วยวิธีคินสึงิแบบญี่ปุ่น หรือก็คือวิธีการซ่อมแซมจานชามที่แตกบิ่นให้กลับมาประสานกันได้อีกครั้งด้วยการลงยางรักแล้วนำผงทองมาปิดให้สวยงาม แม้ว่าเซรามิกที่ถูกซ่อมแซมเหล่านั้นจะมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์นัก แต่เราก็ยังพอมองออกว่ารูปลักษณ์เดิมของมันหน้าตาเป็นอย่างไร ผลงานนี้สะท้อนปรากฎการณ์การปะทะกันของคนต่างรุ่นที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ความแตกต่างระหว่างวัยที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างวัย และส่งผลให้เกิด “วิกฤติความเดียวดายในสังคม”

ผลงานนี้เกิดขึ้นจากการนำคนสองช่วงวัยมาพบกันเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกัน โดยใช้วัตถุสิ่งของในชีวิตประจำวันที่ถูกทิ้งเพราะมันแตกร้าว นำกลับมาประสานกันเพื่อคืนชีพมันอีกครั้ง เป็นมุมมองของการพยายามเยียวยาจิตใจจากความแตกสลายในชีวิต สู่การสร้างสำนึกตัวตนใหม่ของเหล่าผู้สูงอายุ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันและกันของคนสองช่วงวัย ผลงานภาชนะแตกหักทุกชิ้นที่จัดแสดง จะมี QR Code แนะนำตัวผู้สร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นด้วย สามารถใช้สมาร์ตโฟนสแกนดูและทำความรู้จักพวกเขาได้เลย

ความเปราะบาง ผลงานของนพวรรณ สิริเวชกุล

พื้นที่จัดแสดงศิลปะแสดงสด (มีตารางการแสดงเป็นช่วงเวลา) แม้ว่าในเวลาช่วงนอกเหนือการแสดง เราจะเห็นมุมนี้เป็นแค่พื้นที่การแสดงที่มีการจัดเตรียมอุปกรณ์การแสดงทิ้งไว้เท่านั้น แต่ถึงจะยังไม่ได้ชมการแสดง ผลงานนี้ก็ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความสับสน ซับซ้อน และความรู้สึกของการที่ต้องดิ้นรนเพื่ออะไรบางอย่าง ผ่านเส้นไหมพรมสีแดงที่ถูกทิ้งกระจัดกระจายและพันกันอิรุงตุงนัง กระดาษสีขาวบนกำแพงที่ถูกแต่งแต้มด้วยหมึกสีดำอย่างเป็นอิสระ ไม่อาจมองออกได้ว่าเป็นภาพอะไร และกองของดอกไม้สีขาวที่นับวันก็มีแต่จะเหี่ยวเฉาและแห้งกรอบ ดอกไม้เหล่านี้เคยเป็นสีขาว แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันกลับกลายเป็นสีเหลืองและแห้งกรอบเป็นสีน้ำตาลในที่สุด

ผลงานชิ้นนี้นำเสนอถึงการสร้างสำนึกและตัวตนของผู้สูงวัยที่ต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายและสิ้นอายุขัยไปตามลำพัง ศิลปะแสดงสดที่ศิลปินจะถักทอไหมพรม เห็นถึงจังหวะของการถักไหมพรมที่เปรียบเสมือนลมหายใจเข้าออกอันแสดงถึงการยังมีชีวิตอยู่ แต่ไหมพรมที่ถูกดึงออกมาจากก้อนใหญ่จะเริ่มยาวขึ้นและเริ่มพันกันไปหมด ในขณะเดียวกันสังขารก็เหี่ยวเฉาโรยราไปทุกชั่วขณะเช่นกัน พยายามให้เราได้ตระหนักรู้ว่าชีวิตคนเรามันเปราะบางกว่าที่คิด

ประยุกต์หัตถกรรมผูกมัดความสุข ผลงานของกรกต อารมณ์ดี

เป็นศิลปะงานจักสานไม้ไผ่ ภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่มักมีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเสมอ นึกภาพตามในชุมชนที่มีบรรพบุรุษประกอบอาชีพจักสานไม้ไผ่ คนแต่ละรุ่นจะได้รับความรู้นี้มาจากปู่ย่าตายายของตนเอง แต่งานหัตถกรรมที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้เป็นงานไม้ไผ่ที่นำมาประยุกต์ร่วมกับเทคนิคสมัยใหม่ โดยการนำไม้ไผ่มาจัดวางโดยใช้เทคนิคของการทำว่าว การโยงเชือก การดึงรั้ง การรัดด้วยเชือก ให้ออกมาเป็นศิลปะประดับฝาผนัง เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้งานหัตถกรรมไม้ไผ่ ใส่ความร่วมสมัยให้สอดคล้องกับวิถีคนสมัยใหม่ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้

ผลงานจักสานที่นำมานำเสนอนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเรียนรู้วิชาจากครอบครัว โดยคนเฒ่าคนแก่ในบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เหล่านี้มาให้ ในฐานะผู้สืบทอดก็นำความรู้ที่ได้จากบรรพบุรุษมาต่อยอดอย่างมั่นใจ เกิดเป็นองค์ความรู้ที่สง่างาม สะท้อนให้เห็นความสุข ความรัก ความอบอุ่น และความเคารพกตัญญูต่อผู้ให้ความรู้ที่เป็นทั้งครู และครอบครัว ทำให้งานจักสานที่สานเอาเรื่องราวต่าง ๆ เข้ากันไว้ด้วยกันจะยังคงอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ และหากมีโอกาส อย่าลืมที่จะกลับไปดูแลครอบครัวด้วยความรักและความอบอุ่นด้วย

สะพานข้ามบึงบัว ผลงานของกมลลักษณ์ สุขชัย

ผลงานศิลปะสื่อผสมอีกชิ้นที่ถ้าหากเดินผ่านเฉย ๆ อาจเข้าใจผิดว่าเขาเอาฟูกมาปูไว้ให้เราเข้าไปนอนเล่น แต่จริง ๆ แล้ว นี่เป็นผลงานที่นำเสนอการจำลองความทับซ้อนกันระหว่างความทรงจำและจินตนาการ สำหรับใครหลายคนจะมีภาพครอบครัวในความทรงจำ ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ห้องนั่งเล่น สถานที่ที่สมาชิกในบ้านจะไปนอนรวมตัวกันบนฟูกระนาดที่คุณย่าคุณยายเย็บและยัดนุ่นด้วยมือ จากทักษะ ประสบการณ์และความอุตสาหะ และดอกบัวผ้าใยบัว แสดงให้เห็นถึงการประยุกต์เอาหัตถกรรมประจำครอบครัวเข้ากับศิลปะร่วมสมัย มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาและองค์ความรู้ส่วนบุคคลส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เสมือนการส่งต่อความคิด มุมมอง ประสบการณ์ผ่านเรื่องเล่าที่ถูกบรรจุไปด้วยอุดมการณ์ของชีวิต

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รับฟังเรื่องราวเหล่านั้นอาจปรากฏมุมมองการตีความที่แตกต่างกันออกไป ตามความสามารถในการทำความเข้าใจเรื่องเล่าที่จะแตกต่างกันตามช่วงวัย เพราะแต่ละช่วงวัยเราจะมีประสบการณ์ที่ไม่เหมือนเดิม ถึงอย่างนั้น การตีความหมายเชิงคุณค่าของสังคมสูงวัยผ่านผลงานนี้ อาจเป็นการแสดงให้เห็นถึงการหวนนึกถึงช่วงเวลาในอดีตของคนสูงวัย ที่ศิลปินเองก็อยากเชิญชวนให้ผู้ชมได้ย้อนหวนนึกถึงที่นอนนิ่ม ๆ ที่บ้าน อันเป็น safe zone ของใครหลายคน ช่วงเวลาแห่งการล้มลุกคลุกคลานที่ยังมีฟูกรองรับ แต่เมื่อเดินเหยียบย่ำข้ามสะพานจำลองแห่งนี้ไปแล้ว เราทำได้เพียงมองย้อนกลับไปที่อีกฝั่งเท่านั้น เป็นมุมมองของกาลเวลาที่ไหลลื่นไม่รู้จบระหว่างอดีตและปัจจุบัน

มหานครผลัดใบ ๒๕๖๖ ผลงานของแดนสรวง สังสรเวชภัณฑ์

มุ่งหน้าเข้าสู่ห้องฉายศิลปะภาพถ่ายและศิลปะวีดิทัศน์ วิดีโอและภาพนิ่งที่ถูกฉายในห้องนี้สร้างบรรยากาศที่อึดอัดและหดหู่ใจเป็นอย่างมาก นำเสนอภาพของการสำรวจผู้สูงวัยที่เป็นคนยากจนใจกลางเมืองหลวงอย่างพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยกระบวนการศิลปะภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว เสียง และบทสนทนา เมืองหลวงที่มีภาพความเจริญเป็นวัตถุต่าง ๆ แต่ชีวิตของผู้สูงวัยที่ครั้งหนึ่งพวกเขาอาจเคยมีส่วนร่วมในการสร้างความเจริญของบ้านเมืองนี้กลับเป็นวิถีชีวิตที่สุดจะรันทด เฟ้นหาภาพสะท้อนปรากฏการณ์ระหว่างสภาวะเปลี่ยนผ่านของระบบเมืองที่ชับซ้อน และสภาวะของผู้สูงวัยคนจนเมืองท่ามกลางวิกฤติการณ์ของ “สังคมผู้สูงวัย” ที่สังคมไทยต้องเผชิญร่วมกัน

เวลา ผลงานของจักรวาล นิลธำรงค์

อีกห้องที่เป็นห้องสำหรับฉายภาพยนตร์ กำลังฉายภาพยนตร์เรื่อง “Anatomy of Time (เวลา)” ภาพยนตร์ความยาว 118 นาที โดยผู้กำกับ จักรวาล นิลธำรงค์ ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564 โดยความร่วมมือจาก 4 ประเทศที่ร่วมกันผลิต คือ ไทย ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์ สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้กำกับได้รับแรงบันดาลใจมาจากการตีความวรรณกรรมเรื่อง “เวลา” ของชาติ กอบจิตติ วรรณกรรมที่ได้รับรางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ.2537

“Anatomy of Time (เวลา)” นำเสนอมุมมองและบทบาทของผู้ดูแลผู้ป่วยสูงวัย เน้นในมิติของการทุ่มเทและมอบเวลาทั้งหมดของชีวิตเพื่อดูแลประคับประคองผู้ป่วย เปิดประเด็นไว้อย่างน่าขบคิดต่อการดูแลสมาชิกสูงวัยในครอบครัว ชวนให้พิจารณาถึงบทบาทสำคัญของคนในครอบครัวต่อการทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยสูงวัยในสภาพเงื่อนไขต่าง ๆ ที่แม้จะเหนื่อยยากและบีบคั้นทางอารมณ์ ต้องถ่วงดุลความหวังกับความจริง แต่ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ รายละเอียดของการดูแลผู้ป่วยสูงวัยที่ต้องดูแลทุกอย่างของผู้ป่วย กลับเป็นมุมที่ผู้ดูแลไม่ได้รู้สึกรังเกียจ แต่ทำทุกอย่างด้วยความรักความห่วงใย เพราะการพึ่งพาดูแลกันในครอบครัว เป็นลักษณะเด่นของสังคมไทยตั้งแต่อดีตมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยสูงวัย และชวนให้มองในมิติเชิงเศรษฐกิจ กับบทบาทอาชีพของผู้ดูแลผู้สูงวัยที่กลายเป็นอาชีพที่มีความต้องการสูงมากขึ้นในปัจจุบัน ตามสถานดูแลผู้สูงวัยหรือครอบครัวที่ต้องการผู้ดูแลส่วนตัว มีความต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยสูงวัยมากขึ้น

เวลา ผลงานของชาติ กอบจิตติ

ออกจากห้องภาพยนตร์ ก็จะได้พบกับศิลปะจัดวางด้วยหนังสือวรรณกรรม เอกสาร และวิดีโอ ผลงานวรรณกรรมเรื่อง “เวลา” ต้นฉบับที่สร้างแรงบันดาลใจในภาพยนตร์เรื่อง “Anatomy of Time (เวลา)” ของจักรวาล นิลธำรงค์ โดยนวนิยายเรื่อง “เวลา” นี้ เป็นนวนิยายของชาติ กอบจิตติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปีพ.ศ. 2547 และนักเขียน 2 รางวัลซีไรต์ และรางวัลช่อการะเกดในปี พ.ศ. 2535 ชาติ กอบจิตติ ขณะที่มีอายุ 37 ปี เขาเป็นคนหนุ่มที่ทวนกระแสความแตกต่างของวัย สนใจศึกษาและสังเกตการณ์เก็บรายละเอียดชีวิตของผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาถ่ายทอดผ่านวรรณกรรมเรื่อง “เวลา”

เวลาในปัจจุบันที่ล่วงเลยมานานถึง 30 ปี นับจากการตีพิมพ์ “เวลา” ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2536 สิ่งที่ชาติ กอบจิตติเขียนยังปรากฏเป็นสัจธรรมของชีวิตมนุษย์ทุกคน ที่ไม่ว่าจะยากดีมีจน ต่างต้องพบกับความโรยราทางกายภาพ ความทรงจำ มุมมองต่อชีวิต และอุดมการณ์ของชีวิต โดยผู้ชมนิทรรศการจะได้ย้อนอดีตการตีความหมายของผู้สูงวัยในช่วงปี พ.ศ. 2536 ผ่านเอกสาร การจดบันทึกรายละเอียด และการลงพื้นที่ในบ้านพักคนชราของชาติ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งวรรณกรรมเรื่องดังกล่าว แผนงานและรายละเอียดความคิดต่าง ๆ ที่ชาติใช้เป็นวัตถุดิบในการแต่งเรื่อง “เวลา” ยังปรากฏเป็นเอกสารที่แม้ว่าจะเก่า แต่ก็ยังสมบูรณ์มากทีเดียว จัดแสดงพร้อมหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรก

ถ้าใครอยากลองอ่านนวนิยายเรื่อง “เวลา” ก็สามารถไปยืนอ่านกันได้ บนกำแพงสีส้มแสบตาเราจะเห็นหน้ากระดาษนวนิยายที่ถูกดึงออกมาจากเล่มหนังสือจัดแสดงเรียงกันไว้หลายสิบแผ่น แต่ถ้าสนใจที่อยากจะมีเก็บไว้ในครอบครองสักเล่ม นวนิยายเรื่องนี้ก็ยังมีขายตามร้านหนังสือทั่วไป แต่น่าจะเจอเล่มฉบับพิมพ์ครั้งที่ 23!

เก้าอี้บุญ-แชร์ ผลงานของพงศธร กันทะวงค์

งานนิทรรศกา สูงวัย…ขยาย (ความ) ใครเข้าไปก็น่าจะได้สังเกตเห็นเหมือน ๆ กันว่ามักจะมีเก้าอี้หรือที่นั่งถูกจัดเตรียมไว้ให้ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ ซึ่งก็พอจะอนุมานได้ว่าน่าจะสื่อสารถึงผู้สูงอายุ ที่เดินมากไม่ไหว ยืนนานก็ปวดเมื่อยหน้ามืด จึงจำเป็นต้องมีม้านั่งเตรียมพร้อมไว้ในทุก ๆ จุดให้ผู้สูงอายุได้นั่งพัก

อย่างไรก็ดี มีพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะจุดหนึ่งที่มีเก้าอี้มากมายเรียงกัน แต่ไม่อนุญาตให้นั่ง เก้าอี้บุญ-แชร์ นำเสนอผลงานเครื่องเรือนไม้สัก เะป็นการออกแบบเก้าอี้ที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัย เนื่องจากผู้สูงวัยจะมีข้อจำกัดทางด้านสรีระและการใช้ชีวิต ทั้งการลุกนั่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จึงนำไม้สักของดีจังหวัดแพร่มาพัฒนาเป็น “เก้าอี้บุญ-แชร์” โดยบุญ-แชร์ Collection เฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุวิถีชีวประกอบด้วย 3 ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงวัย ได้แก่ บุญเย็น บุญส่ง และบุญค้ำ เป็นการทำงานร่วมกันของหลายส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เก้าอี้บุญ-แชร์จึงช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนและสร้างเก้าอี้ที่น่าใช้ตอบโจทย์ผู้สูงวัยในบริบทสังคมไทย

สำหรับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เน้นฟังก์ชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงวัย ที่ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการทรงตัว การลุก หรือการเดิน เช่น เก้าอี้บุญเย็น เป็นเก้าอี้ไม้มีโต๊ะและสามารถเสียบไม้เท้าได้, บุญส่ง เป็นเก้าอี้ที่มีความพิเศษอยู่ที่เวลาลุกขึ้น เก้าอี้จะโน้มลงมาข้างหน้า ช่วยส่งตัวให้ผู้สูงวัยลุกขึ้นได้ง่าย และบุญค้ำ เฟอร์นิเจอร์ที่มีคุณสมบัติตามชื่อ เป็นทั้งที่ค้ำเดินเวลาเดิน และเป็นเก้าอี้ให้นั่งพัก เมื่อเดินจนเหนื่อย

บันทึกทำไมของมิสเตอร์ทัมไม ผลงานของสุทิน ตันติภาสน์

พบกับงานศิลปะจัดวางที่ชวนให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นพื้นที่ที่กำลังปรับปรุงอยู่ ด้วยวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ของงานศิลปะชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือประกอบอาชีพจริง ๆ ของ สุทิน ตันติภาสน์ ที่ปัจจุบันเป็นศิลปินสูงวัยที่ยังคงเป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะตกแต่งกับสถานที่ ร่วมกับทีมงานที่ชื่อว่า ART FOR DEC ซึ่งมีผลงานประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมภายนอกอาคารสถานที่ขนาดใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ และในภูมิภาคต่าง ๆ อีกหลายแห่ง ทั้งด้วยจิตอาสาและอุทิศตนต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง นับเป็นตัวอย่างของผู้ก้าวเข้าสู่ความสูงวัยที่สั่งสมประสบการณ์อย่างยาวนาน

งานศิลปะในชุดนี้ประกอบด้วยภาพเพนต์บนผ้าใบขนาดใหญ่ กว้างสามเมตรยาวเก้าเมตร แขวนลงมาจากผนังสูงกว่าแปดเมตร สร้างสรรค์เรื่องราวของมนุษย์ต่างดาวช่างสงสัยตนหนึ่งที่มีชื่อว่า มิสเตอร์ทัมไม ผู้เดินทางมาเยือนและพำนักอยู่บนโลกช่วงระยะเวลาหนึ่ง วาดบันทึกภาพบนผนังสูงของอาคารเก่าเพื่อบันทึกเรื่องราวที่เคยประสบพบเห็นมา ซึ่งเป็นการวาดงานของทีมทำงานบนที่สูง จึงต้องอาศัยนั่งร้านเป็นส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะด้วย ขนมาติดตั้งเพื่อประกอบการนำเสนอผลงานจำนวน 3 ชุด รอบ ๆ ผลงานหลักนี้ยังรายล้อมด้วยประวัติความเป็นมาของทักษะ และผลงานของศิลปินมัณฑนากรสูงวัยผู้นี้ ที่ยังคงยืนหยัดสร้างสรรค์ผลงานที่ท้าทายประเด็นด้านช่วงวัยอย่างสง่างาม

ศิลปะจากสิ่งทิ้งขว้างและภาพวาดยามบ่าย ผลงานของจุมพล อุทโยภาส

พบกับประติมากรรมงานแกะสลักหินและเสาไม้ที่ไม่มีใครต้องการแล้ว และงานจิตรกรรมสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ ผลงานจากศิลบินและประติมากรที่ทำงานกับวัสดุ ซึ่งต้องใช้ความอุตสาหะผ่านประสบการณ์ และความพยายามอย่างยิ่งยวด เพื่อปรับปรุงคุณภาพของรูปทรงวัสดุที่ทำงานด้วยทักษะความชำนาญเฉพาะตน แสดงออกถึงแนวคิดที่เป็นบทสรุปแนวทางการสร้างสรรค์ประติมากรรมแต่ละชิ้น และนำเสนอศิลปะในทัศนะของศิลปินประติมากร แต่การสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นต้องแลกมากับการใช้ร่างกายอย่างตรากตรำยาวนานต่อเนื่อง ทุกขภาวะเริ่มเกิดขึ้นกับตัวศิลปินโดยตรง นับวันก็ยิ่งแย่ลง นี่แหละคือสัญญาณทางสุขภาพหลายประการที่ร่วงโรยและเปลี่ยนแปลงไปตามวัย

งานศิลปะในชุดนี้ส่วนหลักประกอบด้วยผลงานประติมากรรมจากแผ่นไม้ที่ลอยน้ำมาจากทะเลตามธรรมชาติ จำนวน 2 ชิ้น งานประติมากรรมปีกหิน ติดตั้งโดยการวางพิงผนัง จำนวน 2 แผ่น และงานแกะสลักแผ่นหินสำหรับโต๊ะน้ำชา 2 ชิ้น ขนาด 60 x 120 ชม. ส่วนประกอบเป็นประติมากรรมหิน และผลงานจิตรกรรมนามธรรมสีอะคริลิกขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง ที่สามารถแปรผันได้ตามขนาดพื้นที่จัดแสดง

จุดประกายฉายฝัน ผลงานของธนิตย์ จิตนุกุล

ห้องฉายภาพยนตร์ห้องสุดท้ายของนิทรรศการนี้ ฉายคลิปวิดีโอหนังสั้นความยาว 15 นาที ที่นำเสนอถึงความฝันที่ไม่มีวันหมดอายุ “จุดประกายฉายฝัน” เรื่องราวของผู้สูงอายุที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ความทันสมัยของเทคโนโลยีคือสิ่งที่แปลกประหลาดของผู้สูงวัย เพราะคนเฒ่าคนแก่หลาย ๆ คนตามไม่ทัน จึงทำให้หลายอาชีพไม่สามารถเดินต่อไปได้เเนื่องจากก้าวตามยุคสมัยไม่ทันนี่แหละ ผู้สูงวัยจำนวนมากขาดการเรียนรู้และทำความเข้าใจในการใช้ชีวิตในยุคสมัยใหม่

หนังสั้นเรื่องนี้เล่าถึงเรื่องราวของคุณลุงผู้มีอาชีพฉายหนังกลางแปลง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่เคยได้รับความนิยมในอดีต แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน วิถีชีวิตก็เปลี่ยนเช่นกัน ทำให้ความนิยมของหนังกลางแปลงลดลงจนค่อย ๆ หายไปจากสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมเมือง ถ้าอยากดูหนังต้องเข้าโรงภาพยนตร์ ส่วนคุณลุงที่ไม่มีหน้าที่ฉายหนังอีกต่อไปก็เกิดความท้อแท้สิ้นหวัง หมดพลังในการก้าวเดินต่อไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่แกไม่เคยลืม คือความฝันที่อยากจะเป็นคนทำหนังเองดูสักครั้ง แม้จะแก่แล้วแต่ก็ยังมีฝัน การได้รู้จักกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งผู้เปิดโลกเทคโนโลยีให้กับคุณลุง จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณลุงได้เริ่มต้นที่จะเรียนรู้เทคโนโลยี และกล้าที่จะฝันอีกครั้ง เกิดพลังในการดำเนินชีวิตและสานฝันให้เป็นจริง