เมื่อโซเชียลมีเดีย นำมาทั้งข้อเท็จจริงและความคิดเห็น

เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Statista.com เว็บไซต์ที่คอยรายงานสถิติที่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในสังคม และการใช้งานบนโลกดิจิทัล ได้ออกรายงานล่าสุดเกี่ยวกับจำนวนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียบนโลกใบนี้ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น 4.8 พันล้าน Users จากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 5.18 พันล้านราย ซึ่งจำนวนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียนั้น ครอบคลุมในทุกแอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, TikTok, Twitter (X), Line, Weibo, We Chat และอีกหลายแอปพลิเคชันที่พวกเราคุ้นเคยและไม่คุ้นเคย

ขณะเดียวกันในรายงานของ Statista ได้ระบุว่าจำนวนประชากรบนโลกสื่อสังคมออนไลน์ (Soical Media) ที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นประชากรที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยทำงาน พวกเขามีโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ใช้งาน ติดต่อ และหาแรงบันดาลใจ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแบบปัจุบันทันด่วน นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในทุกวันนี้ พวกเขามีความสนใจในเรื่องอะไรและใช้งานในด้านใดมากที่สุด

โดยความสนใจกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรบนโซเชียลมีเดียนั้น ใช้แอปพลิเคชันของตนเองในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนและครอบครัว ขณะที่อีกส่วนหนึ่งใช้โซเชียลมีเดียในการเติมเต็มช่วงเวลาที่พวกเขาว่าง ด้วยการดูคลิปหรืออ่านเรื่องราวที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ

แต่ที่น่าสนใจที่สุด คือกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทย มาเลเซีย แอฟริกาใต้ และไนจีเรีย พวกเขาใช้เวลาในการติดตามข่าวบนโซเชียลมีเดียมากที่สุด ซึ่งเวลาที่ผู้ใช้งานกลุ่มนี้อยู่บนแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียเพื่อติดตามข่าวนั้น มากกว่า 151 นาทีต่อวัน นั่นเท่ากับว่าข้อมูลข่าวสารที่ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียได้รับ เป็นข้อมูลตรงที่ยังไม่ได้ผ่านการคัดกรอง ซึ่งสามารถมีข้อความที่คลาดเคลื่อนได้ตลอด

ไม่เพียงเท่านั้น การรับข่าวสารผ่านทางโซเชียลมีเดียยังสามารถสร้างอคติ ความเข้าใจผิด หรือมีข้อมูลที่ผิดพลาดส่งให้กับผู้อ่านโดยง่าย เพราะในแต่ละข่าวที่อยู่บนโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นจะสอดแทรกมาพร้อมกับความคิดเห็น ขณะที่อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดีย จะเป็นเครื่องมือจัดการการมองเห็นบนหน้าไทม์ไลน์ของคุณ

ทีนี้เมื่อย้อนกลับไปดูรายงานของ Statisa ที่ระบุถึงสามประเทศที่ชาวเน็ตฯ ล้วนติดตามข่าวสารผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งรวมไทยเข้าไปด้วยนั้น ทำให้เกิดความสงสัยว่ายุคนี้คนไทยติดตามข่าวผ่านทางเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ สื่อกระแสหลักมากน้อยแค่ไหน หรือติดตามข่าวจากเพจที่ทำเรื่องสรุปย่อ หรือนำเสนอแต่ข่าวกระแสเพียงอย่างเดียว ถ้าติดตามแต่เพจ ก็คงไม่น่าแปลกใจที่ทุกวันนี้จะมีคนเข้าใจผิด และสื่อสารไม่ตรงประเด็นได้มากขนาดนี้

ถามว่าปัญหานี้จะแก้ไขอย่างไร คำตอบจากผู้เขียนคงต้องบอกว่าต้องปล่อยให้โซเชียลมีเดียเสื่อมความนิยมลงไปตามวันเวลา เพราะจะให้คนในยุคดิจิทัลกลับไปอ่านหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารรายสัปดาห์ รายเดือน พวกเขาคงปฏิเสธคำร้องขอ หรือจะให้พวกเขาเช็กข่าวจากหลาย ๆ แหล่งก็คงทำได้ยาก เพราะเอาเข้าจริงแล้วแค่อ่านจากโซเชียลมีเดีย เพียงอย่างเดียวก็เหมือนสรุปรวมรายละเอียดมาแล้ว จะเอามานั่งเปรียบเทียบข้อเท็จจริงให้เหนื่อยทำไม

แต่ในความน่ากังวลก็ยังมีเรื่องดี ๆ อยู่บ้าง ที่สื่อกระแสหลักปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ทุกวันนี้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่มีในประเทศ สถานีโทรทัศน์ทุกแห่ง หรือแม้แต่เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ ต่างปรับตัวให้เข้ากับโลกที่โซเชียลมีเดียครองเมือง พวกเขามีฐานที่มั่นบนโซเชียลมีเดียเกือบครบทุกแอปพลิเคชัน และรายงานข่าวที่ยังพอจะมีข้อเท็จจริงอยู่บ้าง

ส่วนคนเสพข่าวอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ถ้าคุณไม่อยากเจอกับ Fake News หรือ Misleading Information (ข้อมูลที่ผิดพลาด) หรือแม้แต่ห้องของเสียงสะท้อน ที่เจ้าอัลกอริทึมจะจัดเนื้อหามาให้คุณ ก็อยากให้ลองติดตามโซเชียลมีเดียของสื่อหลักเอาไว้บ้าง อย่างน้อยก็จะได้เอาไว้หักล้างข้อมูลที่คุณได้รับมาจากคนที่พยายามจะตั้งตัวเป็นกูรูอยู่บนโลกออนไลน์

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ