ในยุคที่สังคมเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ทำให้เราได้เห็นคู่รักเพศเดียวกันสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในหลายประเทศ
โดยเนเธอร์แลนด์ถือเป็นประเทศแรกที่ผ่านกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ตั้งแต่ปี 2001 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ขณะที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 23 ประเทศที่ยอมรับในเรื่องนี้อย่างถูกกฎหมาย และคาดว่าไต้หวันกำลังจะเป็นชาติล่าสุดที่ผ่านกฎหมายนี้ออกมาใช้อย่างเป็นทางการ
นอกจากจะอนุญาตให้เพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้แล้ว ในหลายประเทศก็ยังให้สิทธิ์กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) สามารถรับอุปการะเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรมได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังคงเป็นข้อถกเถียงในวงกว้างว่าการที่พ่อแม่ของเด็กเป็นเพศเดียวกัน จะส่งผลต่อการเลือกเพศของเด็กๆ ที่ถูกรับมาเลี้ยง หรือทำให้เด็กๆ รู้สึกสับสนทางเพศด้วยหรือไม่
ล่าสุด มีผลการศึกษายืนยันแล้วว่า คู่รักเพศเดียวกันไม่ได้มีอิทธิพลหรือส่งผลให้เด็กที่รับมาเป็นบุตรบุญธรรมมีความต้องการหรือปรารถนาที่จะมีเพศที่ไม่ตรงกับเพศสภาพของตัวเองแต่อย่างใด
โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคนตักกีในสหรัฐอเมริกา ศึกษาจากครอบครัวของกลุ่มผู้ปกครองที่มีความหลากหลายทางเพศ จำนวน 106 ครอบครัว ด้วยการสังเกตจากของเล่นที่เด็กๆ แต่ละครอบครัวชอบเล่นในช่วงอายุ 3-5 ขวบ
ขณะที่ผู้ปกครองของเด็กจะต้องตอบแบบสอบถามต่างๆ เพื่อเป็นการประเมินเพศของเด็กที่รับมาอุปการะ ก่อนที่ทีมวิจัยจะกลับมาติดตามผลอีกครั้งใน 5 ปีให้หลัง ด้วยการสัมภาษณ์เด็กๆ เหล่านั้น เพื่อประเมินว่าการมีพ่อแม่เป็นคู่รักเพศเดียวกันจะส่งผลต่อเพศของเด็กด้วยหรือไม่
จากผลการศึกษาดังกล่าว พบว่า เพศสภาพของผู้ปกครองไม่ได้มีอิทธิพลที่จะทำให้เด็กมีความเบี่ยงเบนทางเพศแต่อย่างใด เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่ชายหญิงแต่งงานกัน แต่สิ่งที่จะมีผลต่อการเลือกเพศของลูก กลับเป็นของเล่นที่ลูกให้ความสนใจในวัยเด็ก และพฤติกรรมของตัวเด็กเองมากกว่า
สำหรับในประเทศไทยนั้น แม้สังคมให้การยอมรับเรื่องเพศที่สามในวงกว้างมากขึ้น แต่ในแง่กฎหมายยังไม่มีบทบัญญัติที่รับรองการสมรสของเพศเดียวกัน หรืออนุญาตให้พวกเขารับเด็กมาอุปการะเป็นลูกบุญธรรมได้
โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ ส่วนมาตรา 1458 ระบุว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภรรยากัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ ซึ่งทั้งสองมาตราล้วนระบุเพศไว้อย่างชัดเจนว่าให้สิทธิ์ในการแต่งงานเฉพาะชายกับหญิงเท่านั้น
ส่วน “พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อบุคคลหลากหลายทางเพศ” ที่พยายามผลักดันกันมานานหลายปี ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการปรับแก้ รวมถึงศึกษาเปรียบเทียบกับของต่างประเทศ และยังไม่รู้ว่าต้องรอนานเพียงใดจึงจะเห็นเป็นรูปธรรม!