สัปดาห์ที่ผ่านมา ในบ้านเรามีงานแถลงข่าวความพร้อมการจัดการแข่งขันและเปิดจำหน่ายบัตรศึกโมโตจีพี รายการ โออาร์ ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2023 หนึ่งในประเด็นที่ผมและพี่น้องนักข่าวพูดคุยกันนอกรอบ คือสถานการณ์ของโมโตจีพีปีนี้ “ดูคาติจะแรงไปไหน?” และ “ทำไมรถแข่งทีมโรงงานจากญี่ปุ่นถึงได้ย่ำแย่ขนาดนี้?”
นั่นเป็นประเด็นเดียวกันกับที่สื่อต่างประเทศยังค้นหาคำตอบอยู่ในเวลานี้ เพราะนับตั้งแต่ปลายยุค 70 เป็นต้นมา รถแข่งค่ายรถญี่ปุ่น (นับรวมทั้งฮอนด้า ยามาฮ่า และซูซูกิ) ครองความยิ่งใหญ่รุ่นพรีเมียร์คลาสมาโดยตลอด มีเพียงปี 2007 ที่ดูคาติสอดแทรกขึ้นมาเป็นแชมป์โลกได้จากเคซีย์ สโตเนอร์ แค่ครั้งเดียวเท่านั้น
ทว่ามาในฤดูกาลนี้ ทีมแข่งจากญี่ปุ่นกลับกลายเป็นทีมท้ายแถว หากไล่ดูอันดับคะแนนประเภททีม ทีมแข่งโรงงานอย่าง “เรปโซล ฮอนด้า” เป็นทีมอันดับ 11 ซึ่งเป็นทีมบ๊วยในเวลานี้! ส่วนทีมโรงงานยามาฮ่ารั้งเพียงอันดับที่ 6 ของตาราง และหากไปดูคะแนนนักบิดยิ่งแล้วใหญ่ครับ เพราะตั้งแต่ 1 ถึง 8 เป็นนักบิดจากค่ายรถยุโรปทั้งสิ้น (ดูคาติ อาพริเลีย และเคทีเอ็ม)
หนึ่งในเหตุการณ์และบทสัมภาษณ์ที่ตอกย้ำว่ารถแข่งโมโตจีพีของทีมญี่ปุ่นมีปัญหาจริง ๆ ในเวลานี้ คำให้สัมภาษณ์ของอดีตแชมป์โลกค่ายยามาฮ่าอย่าง ฟาบิโอ กวาตาร์ราโร่ หลังจบการแข่งขันที่ออสติน สหรัฐอเมริกา คือ “มันยากมากที่จะรักษาอันดับในช่วงทางตรงเอาไว้ เมื่อคุณเห็นจรวดวิ่งตามมาจากด้านหลัง!”
นั่นเท่ากับว่าโมโตจีพีที่บุรีรัมย์ช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ พูดได้เต็มปากว่า อดีตแชมป์โลกอย่าง กวาตาร์ราโร่ ของยามาฮ่า รวมถึงมาร์ก มาร์เกซ ของฮอนด้า น่าจะมาแข่งเพื่อลุ้นเป็นชนะประจำสนามได้แค่นั้น แต่จะไม่ได้ลุ้นแชมป์ประจำปีเหมือนกับครั้งก่อน ๆ ที่มาแข่งในเมืองไทย และปล่อยให้นักบิดค่ายยุโรป โดยเฉพาะดูคาติ ขับเคี่ยวแย่งแชมป์กันเอง
แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ 2 ค่ายญี่ปุ่นต้องตามหลังขนาดนี้ สัปดาห์ที่แล้วผมมีโอกาสได้คุยกับ “น้าบาน” สุทธิสาร แววสมณะ กูรูโมโตจีพี และผู้บรรยายทาง PPTV ซึ่งน้าบานบอกว่า ปัญหารถสู้ไม่ได้ จริง ๆ แล้วในอดีตก็เคยเกิดขึ้น อย่างเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในยุครุ่งเรืองของ ฮอนด้า-ยามาฮ่า ฝั่งของดูคาติเองก็เคยเจอปัญหาแบบนี้ หากยังจำกันได้ นักบิดระดับวาเลนติโน่ รอสซี่ ย้ายไปขี่ก็ยังเข็นไม่ขึ้น
แต่มาในยุคปัจจุบันกลับกันอย่างสิ้นเชิงครับ เมื่อดูคาติมีการพัฒนารถจนแซงหน้ารถญี่ปุ่นไปแล้ว และต้องบอกว่าได้เปรียบในทุกด้าน ทั้งสมรรถนะเครื่องยนต์ ชุดอากาศพลศาสตร์ และการจูนกล่องควบคุม แม้ว่าในโมโตจีพี จะมีการใช้กล่อง ECU กลางที่เหมือนกันหมด แต่ค่ายรถยุโรปจูนและทำได้ดีกว่า ซึ่งนั่นคือจุดสำคัญที่ทำให้นักบิดในค่ายรถยุโรปทำได้ดีกว่า โดยเฉพาะควบคุมรถเวลาออกโค้ง
ขณะเดียวกันน้าบานยังมองด้วยว่า การที่ปีนี้มีนักบิดสลับกันบาดเจ็บแทบจะทุกสนาม ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการที่สมรรถนะของรถญี่ปุ่นสู้รถยุโรปไม่ได้ จึงทำให้นักบิดที่ต่อให้เป็นมือเทพขนาดไหน ก็จำเป็นต้องเค้นสมรรถนะของรถออกมาเพื่อให้ทำเวลาต่อรอบขึ้นไปเบียดกับรถแข่งทีมหัวแถว จนเป็นผลที่ทำให้เราเห็นนักบิดล้มและบาดเจ็บกันแทบทุกสนาม
นอกจากนี้ผมยังมองว่าการที่รถแข่งค่ายญี่ปุ่นบนกริดสตาร์ตมีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ แบบครึ่งต่อครึ่ง หากเทียบกับจำนวนรถแข่งยี่ห้อยุโรป ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ น้อยลงไปด้วย ประกอบกับการพัฒนารถที่ดูเหมือนจะหยุดชะงักไปตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ก็น่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุได้เช่นกันครับ
ประเด็นความห่างชั้นของสมรรถนะในโมโตจีพีของรถแต่ละยี่ห้อไม่เคยถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นใหญ่เท่ากับในฤดูกาลนี้มาก่อน แม้กระทั่งสำนักข่าวรอยเตอร์ยังมีรายงานพิเศษเรื่องนี้ เพราะเขามองว่ามันไม่ใช่เรื่องปกติที่ทีมที่เป็นเจ้าแห่งโมโตจีพี และสองนักบิดที่ว่ากันว่าเก่งที่สุดในยุคนี้ ทั้งมาร์เกซ และกวาตาร์ราโร่ ต้องมาตามหลังคู่แข่งขนาดนี้
สุดท้ายผมมองว่าฝั่งของค่ายยุโรปไม่ผิดอะไรที่พัฒนารถให้เร็วได้ขนาดนี้ เพราะทุกอย่างอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน และดอร์น่าก็ไม่ผิดอะไรหากจะปรับเปลี่ยนกติกาเพื่อให้แต่ละทีมกลับมาเริ่มต้นใหม่กันอีกครั้งเพื่อความสูสี แต่สำคัญที่สุดอยู่ที่ 2 ทีมโรงงานจากญี่ปุ่นนั่นแหละครับว่าจะจับจุดได้หรือไม่ อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้ผลงานแย่ไปกว่านี้ครับ