ศึกเลือกตั้ง 2566 ผู้ชนะอาจไม่ใช่พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด

หลังจากมีพระราชกฤษฏีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศวันเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 27 ของประเทศไทย ให้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566

ซึ่งก่อนจะมีการประกาศยุบสภาฯ และวันเลือกตั้งออกมา พรรคการเมืองและเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างมีความเคลื่อนไหวในการหาเสียงและลงพื้นที่ของตนเองมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดหน้าสู้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ย้ายมาสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์) เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่า พรรครวมไทยสร้างชาติแม้จะได้ความนิยมจากตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่สถานการณ์ในพื้นที่ที่จะได้คะแนนเสียงนั้นดูแล้วจะเหนื่อยไม่ใช่น้อย

ผิดกับทาง พรรคเพื่อไทย ที่มีหัวหน้าครอบครัวอย่าง อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ที่อุ้มท้องหาเสียงตั้งแต่ก่อนยุบสภา พร้อมกับประโยคสร้าง Engagement อย่าง “เพื่อไทย แลนด์สไลด์” ประกอบกับฐานคะแนนเสียงที่ยังคงแข็งแรงตั้งแต่เลือกตั้งปี 2562 ทั้งหมดได้ทำให้ชื่อของ อุ๊งอิ๊ง ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้นติดอันดับหนึ่งของทุกโพล ที่คนไทยโหวตเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าทางพรรคเพื่อไทยจะพยายามเปิดตัวนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังอย่าง เศรษฐา ทวีสิน เป็นอีกหนึ่งแคนดิเดตนายกฯ แต่ดูเหมือนว่าความนิยมที่ไม่ว่าจะกี่โพลที่มีผลสำรวจออกมา ก็ยังคงเป็น “แพทองธาร” ที่ยืนหนึ่ง

ถึงเวลานี้มีเวลาอีกประมาณ 45 วันสำหรับการหาเสียง ซึ่งความเข้มข้นน่าจะอยู่ที่สามพรรคสำคัญอย่าง รวมไทยสร้างชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นสมาชิก พรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้จัดการรัฐบาลชุดปัจจุบัน เป็นหัวหน้าพรรค และพรรคเพื่อไทย ที่มีอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีอำนาจการตัดสินใจมากกว่าหัวหน้าพรรคอย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

สถานการณ์ ณ เวลานี้ พรรคเพื่อไทยนั้นดูจะได้เปรียบกับจำนวนฐานเสียง ส.ส. เดิมบวกกับ ส.ส. จากพรรคอื่น และ ส.ส. เก่าที่เคยย้ายไปอยู่พลังประชารัฐ และได้ย้ายกลับมาสังกัดพรรคเพื่อไทย ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าจะเลือกตั้งครั้งที่ 27 เพื่อไทยจะได้ที่นั่งของ ส.ส. ในสภาฯ มากที่สุดแต่จะถึงขั้นจะได้จัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูหลังจากวันที่ 14 พฤษภาคม ขณะที่พลังประชารัฐนั้นมีท่าทีในการประนีประนอมมากกว่ารวมไทยสร้างชาติ และมีความเป็นไปได้ว่าหลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม พล.อ.ประวิตร น่าจะมีบทบาทเป็นอย่างมากในการตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้จำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคเคยได้ในการเลือกตั้งปี 2562 และจำนวน ส.ส. ที่เหลืออยู่หลังจากยุบสภาฯ ประกอบกับเปอร์เซ็นต์ความนิยมของแต่ละพรรคที่สำรวจโดย “นิด้า โพล” ระหว่างวันที่ 2-8 มีนาคม น่าจะพอทำให้เห็นแนวโน้มของการเลือกตั้งครั้งที่ 27 ของประเทศไทยว่าจะไปในทิศทางใด แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือหลังการเลือกตั้ง พรรคที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด จะต้องกลายเป็นฝ่ายค้านเหมือนการเลือกตั้งในปี 2562 หรือไม่ หากไม่ซ้ำรอยเดิมเพราะสถานการณ์ในเวลานี้ดูเหมือนจะมีความประนีประนอมมาก ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีภาพที่คนไทยทั้งประเทศคิดไม่ถึงเกิดขึ้นหลังวันที่ 14 พฤษภาคมก็เป็นได้