ผ้าไหม ถือเป็นมรดกอันล้ำค่าของเมืองไทย มีความงดงามของเส้นไหมที่เป็นเอกลักษณ์ ลวดลายที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย ทำให้เป็นผ้าไทยที่ได้รับความนิยมและโด่งดังไปทั่วโลก การทอผ้าไหมของประเทศไทย ในอดีตเป็นการทำกันในครัวเรือนเพื่อใช้เองหรือทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธี เช่น งานบุญ งานแต่งงาน หรืองานสังคมต่าง ๆ คนไทยมีการนำเอาศิลปะมาประยุกต์ใช้กับวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ และมากยิ่งกว่าการใช้งาน คือความสวยงามและความมีเสน่ห์แบบไทย เป็นการแสดงถึงความประณีตของคนไทยที่มีมาแต่ในอดีตและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบซึ่งยังสืบต่อมาถึงปัจจุบัน และยังคงสร้างสรรค์ผลงานจากผ้าไหมในรูปแบบต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สํานักปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสมาคมส่งเสริมผ้าไหมและวัฒนธรรมไทย ผู้ดําเนิน โครงการแฟชั่นวีค ผ้าไหมไทย นานาชาติ ครั้งที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติของสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยเป็นการเฉลิมพระเกียรติในนามรัฐบาล
โดยได้รับชุดผ้าไหม ที่เป็นแรงบันดาลใจจากชุดประจำชาติของนานาประเทศ เป็นการออกแบบและตัดเย็บโดยดีไซน์เนอร์นานาชาติกว่า 60 ประเทศ และอีก 46 ประเทศออกแบบและตัดเย็บโดยนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศไทย นับเป็นโอกาสอันดีที่เราได้รับชมชุดผ้าไหมไทยที่มีวัฒนธรรมจากทั่วโลกถือเป็นการแสดงถึงความสวยงามของการแต่งกายจากทั่วภูมิภาคในระดับโลก
การใช้ผ้าไหมไทยเป็น Inspirations ในงานออกแบบ
แรงบันดาลใจจากภูมิปัญญา เสน่ห์ของงานฝีมือดั้งเดิม และวิถีชีวิตในอดีตที่นำมาประยุกต์ใช้จนได้เป็นผลงานที่แสดงออกถึงการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ ซึ่งเชื่อมโยงกับชีวิตในอดีต และวัฒนธรรมอันงดงามของไทย กับความทันสมัย และความเป็นสากลมากขึ้น
งานผ้าไหมไทยกับการออกแบบเสื้อผ้า
ปัจจุบัน ผ้าไหมไทยได้มีการรังสรรค์เป็นผลงานมากมาย ทั้งทางการออกแบบเสื้อผ้า ซึ่งแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีมากมาย โดยการนำผ้าไหมไทย มาออกแบบให้ดูทันสมัย และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับคอลเลกชันต่าง ๆ ทั้งนี้ผ้าไหมของไทยได้รับการออกแบบจากนักออกแบบชื่อดังจนกลายเป็นผลงานระดับโลก ด้วยความพิเศษของลายผ้า สร้างคุณค่าให้งานออกแบบ ถ่ายทอดความเป็นไทยได้ดีเยี่ยม ทำให้ผ้าไทยโด่งดัง และเพิ่มมูลค่ามากขึ้น
เสน่ห์ผ้าไหมไทยสู่ชุดแต่งกายนานาชาติ
ประเทศมาเลเซีย ได้รับแรงบันดาลใจจาก “ปลากัดสยาม” หรือที่รู้จักกันดีในมาเลเซียว่า “อิกัน ลากา” เป็นที่นิยมมากในประเทศอาเซียน เปรียบเป็นสัญลักษณ์ของความงามและเสรีภาพ ออกแบบโดย Hazzerwan Hazlee และ Maryam Musa ดีไซน์เนอร์ประเทศมาเลเซีย
สำหรับลุคของพิธีเปิด ดีไซน์ชุดในรูปทรงที่สวยงาม สีสันสดใสตระการตา ด้วยการใช้จังหวะของเกล็ดปลา หางปลาที่พลิ้วไหว สร้างแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้างเนื้อผ้าที่มีพื้นผิวผสมของสิ่งทอ เพื่อสร้างลุคแฟชันตั้งแต่การออกแบบและตัดเย็บ และได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมของมาเลเซีย “เคบายา” เพื่อสร้างภาพเงาของลุค
ประเทศปาปัวนิวกินี ออกแบบโดย Kenny Kg ดีไซน์เนอร์จาก ปาปัวนิวกินี ได้รับแรงบันดาลใจจากชุดประจำวันที่เรียบง่าย แต่ตัดเย็บอย่างมีเอกลักษณ์ของสตรีและเด็กหญิง PNG ซึ่งอยู่เหนือรุ่นสู่รุ่น งานดีไซน์ชุดนี้มีชื่อว่า “เมรีโคลอส”
ประเทศรัสเซีย ดีไซน์เนอร์คือ Julia Dalakian ชุดได้รับแรงบันดาลใจจากภาพวาดของศิลปินชาวรัสเซีย “อับราม อาร์คิปอฟ” ผู้ซึ่งอุทิศช่วงเวลาสำคัญการทำงานให้กับการวาดภาพผู้หญิงชาวนา ความงามที่สดใส แก้มแดง รอยยิ้มที่แสนหวานในชุดสีเขียวชอุ่ม รังสรรค์ชุดผ้าไหมไทยลวดลายผ้าสี่เหลี่ยมคางหมู เต็มไปด้วยชิ้นผ้าที่จับจีบรูปทรงเรขาคณิตพื้นผ้าไหมสีแดง และลายสก็อตพับเป็นชั้น และค่อย ๆ เพิ่มระดับจนถึงด้านล่างของชุด นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับศีรษะ หรือผ้าโพกศีรษะในรูปแบบธนูพร้อมจี้สีน้ำเงิน เป็นผ้าโพกศีรษะของชาวรัสเซียแบบดั้งเดิม
ประเทศไทย ออกแบบโดยนิสัตนักศึกษา ได้รับแรงบันดาลใจจากหลากหลายเรื่องราว ถูกถ่ายทอดเป็นเรื่องเล่าภายใต้มุ้งสีขาวในทุกค่ำคืน เรื่องเล่าต่าง ๆ ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยการเล่าขานตำนานต่าง ๆ นิทานพื้นบ้าน, ความเชื่อประจำถิ่น, ไปจนคำสอนดี ๆ ที่ผู้ใหญ่ ถ่ายทอดให้เด็ก ๆ ได้ฟัง
วันนี้เป็นเรื่องเล่าจากผ้าขิตผืนหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งคุณยายผู้ทอเล่าว่า ตอนตนอายุ 18 ปี ระหว่างที่รอคนรักกลับมา เธอได้ทอผ้าไว้ให้คนรักแต่สุดท้ายผ่านไปหลายปีคนรักของเธอก็ไม่เคยกลับมาเลย แม้ว่าเธอจะรู้ความจริงว่าคนรักของเธอได้แต่งงานใหม่ไปแล้ว ผ้าขิตผืนนี้จะไม่ได้ถูกมอบให้คนรักก็ตาม มันกลับเป็นความทรงจำดี ๆ ที่ทำให้คุณยายมีความสุข และเป็นความทรงจำที่สวยงาม
โครงการแฟชั่นวีค ผ้าไหมไทย นานาชาติ ครั้งที่ 3 นี้นับเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างความสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศ ด้วยเส้นทางไหมไทย ที่ก่อเกิด ด้วยพระวิริยะอุตสาหะในพระราชกรณียกิจ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราช ชนนีพันปีหลวง รวมถึงเป็นการเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยหันมาอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีไทย มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นงานที่สร้างประโยชน์ให้ชาวเกษตรกร ผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเชิงพาณิชย์ เพิ่มโอกาสให้กับนิสิต นักศึกษาไทยต่อไป และสร้างเวทีให้นิสิตนักศึกษามีโอกาสแสดงความสามารถ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ระดับโลกอีกด้วย