“กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน” จัดโครงการพัฒนาทักษะเฉพาะทางของแรงงานอิสระยุค 4.0 มุ่งเป้าผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศกว่า 3 หมื่นคน ที่ทำงานในรูปแบบงานชั่วคราว
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ใช้แนวทางประชารัฐประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะเฉพาะทางของแรงงานอิสระยุค 4.0 (Gig Worker) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีผู้ลงทะเบียนกว่า 13 ล้านราย ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในกลุ่ม GIG Worker ที่ทำงานในรูปแบบงานชั่วคราว รับจ้างเป็นระยะเวลาสั้น เช่น งานพาร์ตไทม์ งานฟรีแลนซ์ อาชีพอิสระ เป็นต้น
โดยมีเป้าหมายดำเนินการฝึกใน 8 กลุ่มอาชีพจำนวนไม่น้อยกว่า 31,500 คน เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ และมอบชุดเครื่องมือทำมาหากินให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมตามโครงการดังกล่าว ซึ่ง 8 กลุ่มอาชีพ ซึ่งมีการฝึกอาชีพถึง 38 หลักสูตร ได้แก่
- กลุ่มอาชีพเทคโนโลยียานยนต์ /เครื่องกล
- กลุ่มอาชีพเกษตรและอาหารแปรรูป
- กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีก่อสร้าง
- กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีดิจิทัล
- กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีอุตสาหกรรมศิลป์
- กลุ่มท่องเที่ยวและบริการ
- กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีงานเชื่อม
ขณะที่ทุกหลักสูตร จะใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง หรือ 5 วัน ปัจจุบันสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่แต่ละจังหวัด เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่ม OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ดำเนินการประชาสัมพันธ์และสำรวจข้อมูลความต้องการฝึกอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมาย
สำหรับการฝึกอบรมในครั้งนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมนอกจากมีทักษะอาชีพติดตัวแล้ว ระหว่างการฝึกอบรมมีค่าอาหารให้วันละ 120 บาทอีกด้วย พร้อมกับประสานสำนักงานจัดหางานจังหวัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน เพื่อให้คำแนะนำในการประกอบอาชีพและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อยอดในการลงทุนต่าง ๆ และมอบชุดเครื่องมือทำหากินเพื่อการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว เป็นต้น
การพัฒนาฝีมือแรงงานดีอย่างไร
ได้ทักษะวิชาติดตัว การได้มีโอกาสฝึกพัฒนาฝีมือในสายอาชีพ ให้อะไรมากกว่าการเรียนรู้จากตำราเพียงอย่างเดียว เพราะการฝึกฝนปฏิบัติงานเป็นประจำย่อมทำให้เกิดทักษะและความเชี่ยวชาญติดตัวผู้เรียนไปตลอด เมื่อศึกษาจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพก็สามารถใช้เป็นใบเบิกทางสมัครงานได้เลย มีงานรองรับอยู่เพียบ บางคนก็ไม่ต้องหางานให้เหนื่อย เพราะมีคนมาจองตัวให้ทำงานด้วยทันที ไม่มีฟีลเตะฝุ่นกลัวตกงาน แถมต่อไปเมื่อสั่งสมประสบการณ์ได้พอตัว ก็ยังสามารถหาช่องทางสร้างกิจการเป็นของตนเองได้อีกด้วย
ได้เลือกหลากหลาย น้อยคนมากที่จะรู้ว่าที่จริงแล้วสายอาชีพมีให้เลือกเรียนหลากหลายแขนง แถมแต่ละสาขาก็น่าสนใจ เลือกเรียนไปแล้วมีงานทำ และสามารถประกอบอาชีพได้อย่างแน่นอน ผู้ฝึกอาชีพสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจและความถนัดของตนเอง หรือจะเลือกเรียนสาขาที่ตลาดแรงงานขาดแคลนก็ดีต่ออนาคตไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นสาขาช่างยนต์ การบัญชี ช่างกลโรงงาน การตลาด ช่างไฟฟ้า ฯลฯ ตรงโจทย์ความต้องการ ผู้ประกอบการต้องไม่มองข้ามอย่างแน่นอน
ได้รับความนิยมจากตลาดแรงงาน ตำแหน่งงานในปัจจุบันกำลังขาดแคลนช่างฝีมือและบุคลากรวิชาชีพทักษะเฉพาะอยู่เป็นจำนวนมาก และถ้ายิ่งมีความมีทักษะด้านภาษาที่ 2 หรือ 3 ยังสามารถโกอินเตอร์ไปทำงานกับบริษัทต่างชาติ การันตีว่ารายได้สูงไม่น้อยหน้าใคร แถมท้ายอีกนิดกับแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต
ได้ทำอะไรตอบแทนสังคม อีกแง่มุมที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับรู้เกี่ยวกับสิ่งดี ๆ ผู้ฝึกพัฒนาสายอาชีพได้ทำให้สังคม คือ กิจกรรมจิตอาสาต่าง ๆ ทั้งช่วยเหลือบริการประชาชน ซ่อมรถยนต์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์-ปีใหม่ ช่วยเหลือชาวบ้านซ่อมแซมบ้านเรือน- เครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อเกิดอุทกภัย ฯลฯ โดยอาศัยความรู้และทักษะวิชาชีพที่มีให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม หรือแม้แต่บางสถาบันเป็นตัวแทนไปประกวดแข่งขันด้านทักษะและนวัตกรรม จนคว้ารางวัลสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ นักเรียนนักศึกษาสายอาชีพก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีดีไม่น้อยไปกว่านักเรียนนักศึกษาสายสามัญเช่นกัน
จากข้อดีของการศึกษาในการฝึกพัฒนาสายงานอาชีพนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นดี ๆ ของการสร้างคน สร้างงาน สร้างกำลังสำคัญที่จะมาเป็นฟันเฟืองพัฒนาเศรษฐกิจและขับเคลื่อนประเทศกันต่อไป สายอาชีพ…ให้อะไรและดีต่อใจมากว่าที่คิด เรียนจบ มีทักษะ มีประสบการณ์ ได้รับโอกาสที่ดี ฝึกจบมาไม่ตกงานอย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงแรงงาน