ชีวิตวัยเกษียณแบบญี่ปุ่น “หรูหรา และ รวยมาก”

ขณะที่เมืองไทยเริ่มมีความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงติดอันดับต้นๆของโลก และเกรงกันว่าคนไทยในวัยเกษียณจะมีเงินออมไม่พอใช้ เพราะอายุ 55 – 60 ปียังต้องนั่งผ่อนหนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อรถยนต์กันอยู่ และที่น่ากลัวไปยิ่งกว่านั้นคือ สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในปี 2568 ซึ่งหมายความว่าแม้ว่าจะถึงวัยเกษียณก็ยังพักไม่ได้ และต้องทำงานต่อไปซึ่งคุณภาพงานก็อาจจะไม่ดีเท่ากับวัยหนุ่มสาว

แล้วประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวอย่าง ญี่ปุ่น เขามีคุณภาพชีวิตในวัยเกษียณที่น่าอิจฉาแค่ไหน!!??

บอกเลยว่าน่าอิจฉามาก เพราะตามรายงานของเว็บไซต์ข่าวเศรษฐกิจอย่าง บลูมเบิร์ก ให้รายละเอียดไว้อย่างน่าสนใจ เพราะมีการรายงานจาก บริษัททัวร์ และ เว็บไซต์ที่เป็นตัวแทนในการจองตั๋วเครื่องบินและที่พักระบุว่า นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในวัยเกษียณ เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชั้นดี ที่พร้อมซื้อการบริการในระดับเฟิร์สคลาส

ตัวอย่างที่ชัดเจนเห็นจะเป็นรถไฟสายคิวชู ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินรถที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นประสบกับปัญหามีผู้โดยสารลดลงเนื่องจากผู้โดยสารส่วนใหญ่ที่เป็นประชากรในวัยทำงานลดลง เหลือแต่คนในวัยเกษียณซึ่งไม่ต้องเดินเท่าไรนัก ทำให้รถไฟสายคิวชูปรับเปลี่ยนบริการบางส่วน เป็นรถไฟที่เต็มไปด้วยบริการระดับเฟิร์สคลาส ซึ่งทำให้เกิดนักท่องเที่ยววัยเกษียณ และ พวกเขายินดีที่จะซื้อบริการที่ดีที่สุดแบบนี้

ซึ่งวิธีการของรถไฟสายคิวชู ประสบความสำเร็จไม่น้อย และทำให้มีรถไฟอีกสองสาย ที่ใช้วิธีการดังกล่าว อันได้แก่ รถไฟสาย East Japan Railway Co. ที่เพิ่งเปิดตัวขบวนรถที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกระดับพรีเมียม ซึ่งภายในนอกจากจะมีทั้งตู้นอน และ ที่นั่งอันหรูหราแล้ว ใน เลาจ์บริการอาหารและเครื่องดื่มของขบวนรถก็เตรียมพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในทุกรูปแบบ รวมไปถึงอาหารที่คัดสรรโดยเชฟมิชเชอลิน สตาร์ ซึ่งขบวนรถที่สามารถรับผู้โดยสารได้ 34 ที่นั่ง มีสนนราคาต่อหัวสูงถึง 8,400 เหรียญสหรัฐ (252,000 บาท) สำหรับทริป 4 วัน 3 คืน แต่รถไฟสายเฟิร์สคลาสนี้ก็ถูกจองจนเต็มไปจนถึงเดือนมีนาคม ปี 2018

ในช่วงสองทศวรรษหลังสุดแม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจจะไม่บูมเหมือนในอดีต และอยู่ในภาวะถดถอย แต่ต้องไม่ลืมว่าคนญี่ปุ่นมีวินัยในการออมขนาดไหน และ ทำให้เศรษฐกิจภายในของญี่ปุ่นยังคงแข็งแกร่งและมีเงินสดอยู่ในระบบอีกมาก นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจจากบริษัท Bain & Company ที่ระบุว่า เมื่อปี 2016 นั้นญี่ปุ่นเป็นประเทศที่บรรดาสินค้าหรูหรา แบรนด์ดังสามารถทำการตลาดได้ดีกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า แอร์เมส หรือ นาฬิกาข้อมือ โรเล็กซ์ ล้วนแล้วเป็นที่ต้องการของเศรษฐีจากญี่ปุ่น

ผู้เชี่ยวชาญจากเว็บไซต์เพื่อการท่องเที่ยวอย่าง Expedia Inc นั้นระบุว่า ตลาดการท่องเที่ยวในญี่ปุ่นเป็นตลาดที่คนนิยมความหรูหรา และ สะดวกสบาย เพราะพวกเขามีการเก็บออมมาตลอดชีวิตการทำงาน เมื่อหมดภาระหน้าที่ เงินที่เก็บสะสมมานั้น ก็จะถูกนำมาใช้เพื่อซื้อความสุขให้กับชีวิต ดังเช่นที่นักท่องเที่ยววัยเกษียณชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งระบุว่า เมื่อไม่มีภาระผ่อนบ้าน หรือ ส่งลูกเรียนแล้ว ชีวิตในเวลานี้ของพวกเขาคือ ใช้เวลาที่เหลือเพื่อให้มีความสุขมากที่สุด เพราะไม่ได้มีความอยากในสิ่งของอีกต่อไปแล้ว เวลานี้ต้องการใช้เงินเพื่อสร้างความทรงจำ และ ประสบการณ์ที่ดีกับช่วงชีวิตที่เหลืออยู่

จะว่าไปแล้ว สังคมญี่ปุ่นนั้นเรียกได้ว่าเป็นสังคมที่ผู้คนมีค่านิยมในการเก็บเงินสด ถึงเวลานี้บรรดาคนวัยเกษียณที่มีฐานะในญี่ปุ่นนั้น มีเงินสดอยู่ในมือ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ – 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 30 – 81 ล้านบาท) ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มที่มีเงินสดรวมกันแล้วมากกว่า คนวัยเกษียณที่มีฐานะในเยอรมนี และ จีนรวมกัน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษา Nomura Research Institute ในกรุงโตเกียวระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นได้สร้างกลุ่มคนที่แม้จะไม่รวยมากแต่ก็เป็นกลุ่มคนที่มีฐานะในระดับหนึ่ง

และข้อมูลจาก Expedia น่าจะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น เพราะ Expedia ระบุว่านักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นนั้นนิยมที่จะจองตั๋วเครื่องบินในชั้นธุรกิจ หรือ ชั้น เฟิร์สคลาส และมีแนวโน้มที่ตลาดนี้จะโตขึ้นมากกว่าการจำหน่ายตั๋วในชั้นประหยัด ขณะที่ JTB Group ซึ่งเป็นบริษัทท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ได้เปิดเผยว่าจำนวนลูกค้า ในปัจจุบันนับว่า เปลี่ยนแปลงไป จากหนุ่มสาวกลายมาเป็นลูกค้าในระดับไฮเอนด์ ที่มีกำลังซื้อนับว่าเป็นการเติบโตในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นนับตั้งแต่ปี 2003 เลยทีเดียว