ผู้ป่วยมะเร็งเสี่ยง “ซึมเศร้า” จากการให้ “คีโม”

ผู้ป่วยมะเร็งเสี่ยง “ซึมเศร้า” จากการให้ “คีโม”

หากพูดถึง “มะเร็ง” โรคที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปจำนวนมาก  หนึ่งในวิธีหลักของแพทย์แผนปัจจุบันที่ใช้รักษาผู้ป่วย คือ การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “คีโม”  ซึ่งเป็นการใช้สารเคมีหลายชนิดในการทำลายเซลล์มะเร็ง และยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ของอังกฤษ พบว่า  การให้ยาเคมีบำบัดหรือคีโม อาจส่งผลกระทบต่อเซลล์สมอง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้น

ทั้งนี้ การให้คีโมกับผู้ป่วย นอกจากจะไปยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งแล้ว ก็ยังไปขัดขวางการเกิดหรืองอกขึ้นใหม่ของเซลล์สมองด้วย นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลได้

แม้ว่าที่ผ่านมา แพทย์ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตร่วมด้วย แต่ผลการศึกษาดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Translational Psychiatry พบเป็นครั้งแรกว่า การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด มีความเชื่อมโยงกับเซลล์ประสาทและโรคซึมเศร้า

โดยจากการทดลองกับหนู ด้วยการให้ยาเคมีบำบัด “เทโมโซโลไมด์” (Temozolomide) หรือ TMZ  ที่มักใช้รักษามะเร็งสมองในคน พบว่า  ยิ่งยาเคมีบำบัดไปขัดขวางการทำงานของเซลล์ประสาทมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้สมองหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดออกมามากขึ้น รวมถึงทำให้หนูทดลองเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป คล้ายกับอาการซึมเศร้าของคนด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการให้คีโมถือเป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก แม้ว่าจะมีผลข้างเคียงจากการรักษาอยู่บ้าง โดยดอกเตอร์ซองดรีน ธูเรต์ อาจารย์ผู้ร่วมทำการทดลองจากมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน แนะนำไว้ได้น่าสนใจว่า การบอกให้ผู้ป่วยมะเร็งทราบถึงผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัดก่อนเข้ารับการรักษา ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่พวกเขาจะได้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายของตัวเองได้

นอกจากอาการผมร่วง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียนแล้ว ก็ควรบอกให้ทราบด้วยว่า ผู้ป่วยอาจมีภาวะเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้าจากยาได้ ซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้ป่วยมากกว่า เพื่อจะได้คลายความกังวลใจ และเตรียมรับมือแต่เนิ่นๆ