US – การเอาคืนของ “คนชั้นล่าง”

อาจเขียนถึงช้าไปนิดเพราะเพิ่งหาเวลาพาตัวเองไปโรงภาพยนตร์ได้ท่ามกลางตารางงานยุ่งเหยิงและอากาศร้อนแทบคลั่ง แต่ก็คงไม่สายเกินไปที่จะเขียนถึงหนังสยองขวัญกระแสเยี่ยมเรื่องนี้ ที่นอกเหนือจากความสนุกระทึกขวัญบนฉากหน้า ก็ยังสอดแทรกสาระต่างๆไว้ได้อย่างคมคายตามสไตล์ จอร์แดน พีล ผกก.ขวัญใจคอหนังเฮี้ยนยุคใหม่

US ผลงานกำกับเรื่องที่สองของ จอร์แดน พีล ผู้สร้างชื่อเปรี้ยงปร้างจากหนังเรื่องแรก Get Out ที่กอบโกยทั้งรายได้ คำวิจารณ์ และรางวัลออสการ์สาขาบทหนังยอดเยี่ยม ยังคงใช้ตัวละครคนผิวสีเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องราวเหมือนเดิม เมื่อครอบครัวผิวสีบ้านหนึ่งอันประกอบด้วย พ่อ-แม่-ลูกสาว-ลูกชาย เก็บกระเป๋าไปเที่ยวพักผ่อนที่ชายหาดย่าน ซานต้า ครูซ แต่แทนที่จะเป็นทริปอันแสนสุข กลับมีแขกไม่ได้รับเชิญแวะมาหายามวิกาล แต่ที่เฮี้ยนกว่านั้นคือเหล่าผู้บุกรุกทั้งหลายกลับมีหน้าตาเหมือนคนบ้านนี้ทั้งหมด!!

นอกจากต้องพาครอบครัวหนีเอาตัวรอดจากกลุ่มผู้บุกรุกชวนผวา อะเดเลด แม่บ้านประจำครอบครัว ก็ต้องเผชิญกับปริศนาที่เธอต้องพยายามคลี่คลายว่าคนเหล่านี้เป็นใครกันแน่ โดยมีความทรงจำเลวร้ายในวัยเด็กเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยให้เธอหาคำตอบของเรื่องนี้ ก่อนนำมาสู่บทสรุปที่คนดูต้องหงายหลังกันไปข้าง

เป็นอีกครั้งที่คุณจอร์แดน พีล ลงมือรังสรรค์เรื่องราวขนหัวลุกได้แบบสนุกมือ ภายใต้บรรยากาศหนังแบบ Home Invasion (การถูกคนร้ายคุกคามถึงบ้าน) ขณะเดียวกันแม้จะปูว่าเป็นหนังธริลเลอร์ระทึกขวัญ แต่มันก็ไม่ได้มุ่งทำให้คนดูตกใจขวัญกระเจิงสิบตีนถีบ เพราะยังมีการสอดแทรกอารมณ์ขันเข้ามาช่วยทำให้บรรยากาศความอึดอัดกดดันดูผ่อนคลายลงในบางจังหวะ โดยเฉพาะมุกจากตัวละครคุณพ่อที่ปล่อยเมื่อไหร่ก็ฮาเมื่อนั้น กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้เป็นดาบสองคมที่แอบบั่นทอนตัวหนังเล็กๆ

เมื่อเทียบกับผลงานเรื่องแรก ส่วนตัวผู้เขียนชอบ US มากกว่า Get Out นิดหน่อยตรงที่บทสรุปไคลแมกซ์นั้น US ทำได้ดี อธิบายกระจ่างชัดเจน รวมถึงจุดหักมุมที่สมเหตสมผล ขณะที่ Get Out ก็ทำได้ดีแต่บทสรุปช่วงหลังและตรรกะของตัวละครดู Surreal ผสมไสยศาสตร์ไปสักหน่อย แต่สิ่งที่ทั้งสองเรื่องทำได้ยอดเยี่ยมเหมือนกันคืออารมณ์สยองขวัญที่ทำให้ผู้ชมลุ้นระทึก เฝ้าดูชะตากรรมตัวละครด้วยสายตาเบิกโพลง

และเป็นธรรมเนียมของคุณพีล ที่ต้องสอดใส่ “สาร” จิกกัดสังคมอเมริกันเข้ามาในหนังเหมือนเคย ซึ่ง US ก็มีหลายเรื่องที่เขาใช้มันเป็นเครื่องมือในการเสียดสีเรื่องราวในบ้านของตัวเอง เช่นคนผิวสีที่ถูกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่อย่างไม่เป็นธรรม (ใน Get Out ก็มี) การใช้ความรุนแรง และที่เป็นไฮไลท์ของเรื่องนี้คือช่องว่างระหว่างชนชั้น

US เปิดฉากด้วยการให้ อะเดเลด ในวัยเด็กนั่งชมโฆษณา Hand Across America แคมเปญการกุศลที่เคยมีอยู่จริงในปี 1986 จากการริเริ่มของ เคน คราแกน โปรดิวเซอร์รายการทีวีชื่อดัง วัตถุประสงค์คือเชิญชวนอเมริกันชนออกมายืนจับมือกันเป็นโซ่มนุษย์ทั่วประเทศ พร้อมบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ ซึ่งตัวแคมเปญได้รับการสนับสนุนจากชาวอเมริกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเหล่าคนชั้นสูงกับคนชั้นกลาง ที่มองว่าเป็นเรื่องกิ๊บเก๋ ออกมาจับมือกันเป็นภาพที่สวยงาม พลางบริจาคเงินช่วยคนชั้นล่าง ซึ่งในที่สุดแคมเปญนี้ก็สามารถระดมเงินบริจาคได้ถึง 34 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม เงินบริจาคดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของคนชั้นล่างแบบยั่งยืน เพราะหลังจบแคมเปญนั้นไปคนชั้นล่างเหล่านั้นก็ยังถูกทอดทิ้งเหมือนเดิม ยังมีคนอีกหลายล้านที่อดอยากปากแห้ง และนั่นจึงทำให้ จอร์แดน พีล หยิบจับเรื่องนี้มาเป็นประเด็นหลักในหนังเชิงเปรียบเปรยให้คนชั้นล่าง (เหล่าผู้บุกรุกในชุดแดง) ลุกฮือมาแก้แค้นคนชั้นสูงและคนชั้นกลางพวกนั้น บอกให้รู้ว่าไอ้ความเห็นใจที่พวกแกสร้างขึ้นมาแบบปลอมๆมันแก้ปัญหาไม่ได้ (โว้ย)

แต่แน่นอนว่าด้วยความที่สาระการจิกกัดของคุณพีล มันคือเรื่องที่เกิดขึ้นในอเมริกา ดังนั้นชาวไทยหรือชาวต่างชาติที่ดูเรื่องนี้อาจมีความรู้สึกต่อ “สาร” ดังกล่าวที่หนังนำเสนอแตกต่างกันไป ซึ่งสำหรับผู้เขียนก็คงต้องบอกตรงๆว่าไม่อินเท่าไหร่ แต่ก็ถือเป็นการเสริมสร้างความรู้ให้ตัวเองอีกทางว่าเมื่อก่อนบ้านเขาก็มีเรื่องราวอะไรแบบนี้

เป็นหนังที่ดูเอาบันเทิงเพียวๆก็ได้ หรือดูแล้วคิดแกะสัญลักษณ์ต่างๆไปด้วยก็ยิ่งดี เพราะสำหรับหนังสยองของ จอร์แดน พีล มันมีอะไรมากกว่าความบันเทิงอยู่แล้ว และนั่นก็ยิ่งทำให้เราอยากดูหนังเรื่องต่อไปของเขาอีกเร็วๆ