FYRE – คอนเสิร์ตพันล้าน และฝันร้ายของท่านผู้ชม

ไม่ว่าคุณจะมีรสนิยมชอบดูคอนเสิร์ตหรือไม่ แต่คงสังเกตเห็นกันได้ว่าช่วงระยะ 4-5 ปีให้หลังมานี้ มีเทศกาลดนตรีผุดขึ้นมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งก็มีทั้งงานที่ประสบความสำเร็จ, ทำกำไร, ขาดทุน หรือกระทั่งเจ๊งไม่เป็นท่าอยู่หลายงาน

FYRE Festival คือหนึ่งในเทศกาลดนตรีที่กำเนิดขึ้นมาอย่างน่าสนใจ และมันก็ลงเอยด้วยความหายนะเมื่อผู้จัดทิ้งผู้ชมหลายชีวิตให้ค้างเติ่งอยู่บนเกาะโดยไม่มีคอนเสิร์ตเกิดขึ้น จนกลายเป็นข่าวใหญ่โตประจำปี 2017 เป็นดราม่าที่สื่อให้ความสนใจกันทั่วโลก

FYRE: The Greatest Party That Never Happened จะพาคุณผู้ชมไปสำรวจให้เห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้น และอะไรที่อยู่เบื้องหลังความล้มเหลวของเทศกาลดนตรีสุดหายนะงานนั้น

ภาพยนตร์สารคดีความยาวประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ภายใต้การกำกับของ คริส สมิธ นักทำหนังชาวอเมริกัน พาคนดูไปรู้จักเทศกาลดนตรีสุดทะเยอะทะยานที่ชื่อ FYRE Festival ซึ่งเป็นโปรเจกต์ของ บิลลี แม็คฟาร์แลนด์ นักธุรกิจหนุ่มที่ต้องการจัดเทศกาลดนตรีเพื่อโปรโมทแอปพลิเคชั่นของตัวเอง “FYRE” ที่เอาไว้ใช้บุ๊คกิ้งศิลปินไปเล่นตามงานต่างๆ โดยร่วมมือกับ จา รูล (Ja Rule) ศิลปินฮิปฮอปชื่อดังที่มาร่วมหัวจมท้าย

บิลลี่ (ขวา) เจ้าของงานตัวแสบ

โปรเจกต์นี้เริ่มต้นอย่างสวยงามเมื่อ บิลลี ใช้วาทะศิลป์ของตัวเอง ระดมเงินทุนจากสปอนเซอร์ และดึงนางแบบชื่อดังระดับโลกกว่า 10 ชีวิต มาถ่ายวีดีโอโปรโมทเทศกาลดนตรี FYRE Festival บนเกาะบาฮามาส พร้อมสโลแกนชวนฝัน “เทศกาลดนตรีสุดหรูหรา บนชายหาดสวรรค์หน้าร้อน” แน่นอนว่าด้วยพลังแห่งการโปรโมทที่เป๊ะปังอลังการ ทำให้บัตรคอนเสิร์ตทุก package ขายหมดอย่างรวดเร็ว รวมถึงศิลปินดังระดับแนวหน้าก็ตอบรับคำเชิญมาเล่นงานนี้กันคับคั่ง

อย่างไรก็ตาม ด้วยความทะเยอะทะยานเกินตัวของทีมผู้จัด รวมถึง บิลลี ที่เชื่อมั่นใน “อีโก้” ของตัวเองยิ่งว่างานจะต้องประสบความสำเร็จ ทั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างเปลี่ยนสถานที่จัดงานกระทันหัน, โปรดักชั่นที่สร้างอย่างเร่งรีบ, ที่พักซึ่งรองรับผู้คนจำนวนมหาศาลไม่ได้ ทำให้ในที่สุดแล้ว FYRE Festival กลายเป็นฝันร้ายของคนที่ซื้อตั๋วเมื่อคอนเสิร์ตไม่เกิดขึ้นจริง คนดูถูกทิ้งค้างเติ่งอยู่บนเกาะนั้นพร้อมกับสาธารณูปโภคที่ไม่รองรับความสะดวกสบายดังที่โฆษณาไว้ทั้งอาหารเน่าๆ บ้านพักและเตนท์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ก่อนที่เจ้าหน้าที่รัฐจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พาขึ้นเครื่องบินกลับบ้านกันแบบผิดหวังถ้วนหน้า ส่วน บิลลี ก็ถูกฟ้องตามระเบียบและติดคุกหัวโตในปัจจุบัน

แม้จะวางตัวเองเป็นหนังสารคดี แต่ก็เป็นสารคดีที่มีลีลาการเล่าเรื่องที่สนุกทีเดียว ดูแล้วไม่หลับ คริส สมิธ นำเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆที่เกิดขึ้นจริงด้วยภาพฟุตเทจของผู้จัดงานที่มีการบันทึกไว้ รวมถึงบทสัมภาษณ์จากทีมงานผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทีมประชาสัมพันธ์ (ที่โดน บิลลี หลอกใช้), ที่ปรึกษาด้านการลงทุน, สปอนเซอร์, ผู้เชี่ยวชาญด้านเทศกาลดนตรี, ผู้ชมที่ตกเป็นเหยื่อ ครบทุกสาระและข้อมูลในส่วนที่คนดูควรจะรู้ โดยเฉพาะฉากหายนะช่วงท้ายที่คนดูมหาศาลถูกทิ้งไว้บนเกาะ ดูแล้วก็สะเทือนใจปนสงสาร

ด้านฝั่งของ บิลลี ผู้จัดงานตัวแสบ ไม่ได้ปรากฏตัวในเรื่องเพราะติดคุกอยู่ แต่จากภาพฟุตเทจที่บันทึกภาพทุกอิริยาบถของเขาซึ่งถูกนำเสนอในเรื่อง ก็มากพอจะทำให้คนดูเข้าใจว่าเขาเป็นคนแบบไหน (ความจริงคือ บิลลี เรียกเงินค่าตัวในการสัมภาษณ์สูงจน ผกก.ไม่มีเงินจ่าย) และเป็นตัวอย่างชั้นดีสำหรับเหล่าโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตทั้งหลายว่า การดันทุรังจัดคอนเสิร์ตที่มีแนวโน้มพินาศตั้งแต่ช่วงเตรียมงานสร้าง คือความหายนะที่แท้ทรู และไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เพราะระหว่างทางเราจะเห็นกันแล้วว่าโปรเจกต์ของ บิลลี มีปัญหามากๆในช่วงการดำเนินงาน แต่เขาก็ดื้อดึงไม่ฟังคำเตือนของคนรอบข้าง สุดท้ายก็ต้องลงเอยด้วยการนอนในห้องกรงและถูกฟ้องยับเยิน

สำหรับใครก็ตามที่คิดว่าการจัดเทศกาลดนตรีเป็นเรื่องง่าย หรือมีความฝันอยากจัดงานคอนเสิร์ตของตัวเอง FYRE: The Greatest Party That Never Happened คือกรณีศึกษาที่ทุกคนควรหามาชมก่อนตัดสินใจลงมือ ดูให้รู้กันเลยว่าอะไร “ควรทำ” และ “ไม่ควรทำ”