ตัวเลขสำคัญในการเลือกตั้งปี 2562

การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิไตยแบบไทยๆ ต้องนับย้อนไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แม้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนั้นจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะระบุว่า การเลือกตั้งในครั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ แต่การเลือกตั้งก็เกิดขึ้นอีกหนึ่งครั้ง และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ที่มีประกาศวันเลือกตั้งให้เป็น 24 มีนาคม 2562 ซึ่งทำให้การเดินทางในระบอบประชาธิปไตยต้องใช้เวลาเดินทางเกือบ 5 ถึงจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียงได้

และในระยะเวลาประมาณ 59 วันต่อจากนี้คือการหาเสียงอย่างเข้มข้นของเหล่าพรรคการเมืองที่ต้องลงพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกันยังมีตัวเลขสำคัญที่เราในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียง ควรจำเอาไว้เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจก่อนที่จะกาบัตรในคูหาเลือกตั้ง

ครั้งที่ 28 : วันที่ 24 มีนาคม 2562 คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 28 ของประเทศไทยนับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกซึ่งมีขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476

5 วัน : คณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดให้วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ เป็นวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และ พรรคการเมืองส่งบัญชีเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ แจ้งรายชื่อบัญชีนายกรัฐมนตรี

23 วัน : ระหว่างวันที่ 28 ม.ค.-19 ก.พ. 62 ทาง กกต. จะเปิดลงทะเบียนขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งนอกเขต

13 วัน : ระหว่างวันที่ 4-16 มีนาคม 2562 จะเปิดให้มีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (สำหรับคนไทยในต่างประเทศที่ได้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิระหว่างวันที่ 28 ม.ค. – 19 ก.พ. 62)

7 วัน : ก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 7 วันกกต. จะจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกเขตในวันที่ 17 มีนาคม 2562

52 ล้านคน : จากจำนวนประชากรที่มีรายงานล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมปี 2560 อยู่ที่ 66,188,503 คนและมีจำนวนประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ที่ 52,457,576 คน

5.6 ล้านคน : จากจำนวนประชากรที่มีรายงานในปี 2560 จะพบว่ามียอดคนอายุ 18 ปี ที่มีสิทธิเลือกตั้งจากปี 2555 – 2560 กำลังรอใช้สิทธิเลือกต้ังมีจำนวน 5,616,261 คน

23 จังหวัด : วันที่ 19 กันยายน 2561 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ กกต. เรื่อง จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด มี 23 จังหวัดถูกหั่นยอด ส.ส. ลง โดยใช้เกณฑ์ประชากร 1.89 แสนคนต่อผู้แทนฯ 1 คน

30 คน : จำนวน ส.ส. ในกรุงเทพมหานครที่ถึงแม้จะลดลงจากเดิมที่มีได้ 33 คนแต่กรุงเทพฯ ยังคงเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งเป็นจังหวัดที่ ส.ส. ได้มากที่สุด โดยอันดับสองคือนครราชสีมา 14 คน และอันดับที่สามคือขอนแก่นและอุบลราชธานีจังหวัดละ 10 คน

350 คน : ส.ส. แบบแบ่งเขตในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมจะมีรวมทั้งสิ้น มี 350 คน จากเดิม 375 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน จากเดิม 125 คน

5 พรรค : สำหรับ 5 พรรคการเมืองที่เป็นข่าวบ่อยและกำลังถูกจับตามตามการทำโพลของสวนดุสิตโพล ประกอบไปด้วย พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ และ พรรครวมพลังประชาชาติไทย

26.20 เปอร์เซนต์​ : ผลสำรวจของนิด้า โพลล่าสุดภายใต้หัวข้อ “ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่ 6)” ระบุว่า 26.20 เปอร์เซนต์อยากให้พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีมาเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 คือคุณหญิงสุดารัตน์​ เกยุราพันธ์ ที่ได้เสียงสนับสนุน 22.40 เปอร์เซนต์​

32.72 เปอร์เซนต์ : นิด้าโพลทำผลสำรวจภายใต้หัวข้อ “พรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล” ปรากฎว่า ประชาชนที่ทำผลสำรวจ 32.72 เปอร์เซนต์ต้องการให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ขณะที่ 24.16 เปอร์เซนต์ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ และ 14.92 เปอร์เซนต์ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์