มหาสมุทรข้อมูลของการ “ทำซ้ำ”

ปี 2561 ดูเหมือนว่าจะเป็นปีที่ Content บนสื่อดิจิตัลจะขับเคี่ยวกันอย่างชัดเจนที่สุด เนื้อหาหลากหลายรูปแบบถูกนำเสนอในแพลทฟอร์มที่แตกต่างกันไป ตลอดทั้งปีเราได้เห็นเหล่าดารานักแสดง หรือ เซเลบริตี้ ต่างมีช่องรายการของตัวเองบนยูทูป ค่ายละคร หรือ ผู้ผลิตรายการหลายเจ้าก็เริ่มป้อน Content รายการแบบ Exclusive ให้กับ ไลน์ทีวี กลายเป็นว่าในยุค 4.0 นี้มีแพลทฟอร์มให้นำเสนอ Content ได้หลายหลายรูปแบบไม่ได้จำกัดอยู่ในช่องทีวี หรือ บนสื่อสิ่งพิมพ์เพียงอย่างเดียวแล้ว

นับเป็นกระแสที่เราเห็นว่า “ใครๆ” ก็ลงมาร่วมเล่นกันอย่างสนุก เรื่องราวแบบนี้ทำให้นึกย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อนที่มีการผลิตหนังต้นทุนต่ำที่เรียกว่า “หนังแผ่น” กันอย่างกว้างขวางถึงขนาดที่มีคนกลัวว่า หนังแผ่น จะทำให้วงการภาพยนตร์เกิดผลกระทบแต่กระแสหนังแผ่นมีวงโคจรอยู่ได้ไม่ถึง 5 ปีผู้คนก็เลิกสนใจ ด้วยคุณภาพ และ เนื้อหาที่มีจุดมุ่งหมายเดียวคือทำเพื่อเงิน

จากกระแสหนังแผ่น ก็มาถึงยุคเวิลด์ไวด์เว็บ (www.) ทันทีที่เว็บไซต์อย่าง Sanook.com ขายให้กับกลุ่ม MIH Group ได้ในราคาที่หลายคนนึกไม่ถึง สังคมไทยยุคที่เพิ่งจะผ่านปี 2000 และ วิกฤติปี 40 ก็เกิดกระแสสร้างเว็บไซต์ กันอย่างกว้างขวางมีเกิดบ้าง มีดับบ้างไปตามกาลเวลา เป็นกระแสที่ไม่ต่างจากยุคหนังแผ่น โดยที่คนทำมีความหวังว่าจะขายเว็บได้เหมือนกับที่ Sanook.com เคยทำเอาไว้ แต่ความจริงกับความฝันมันคนละเรื่องกัน

การทำเว็บไซต์ซึ่งฝรั่งยกให้เป็นฐานันดรที่ 5 ไม่ได้มีองค์ประกอบแค่เนื้อหาแต่เพียงอย่างเดียว แต่เว็บไซต์คือสื่อแบบสองทาง ที่คนทำเนื้อหาจะได้รับกระแสตอบรับจากคนอ่านทันที ดังนั้นการนำเสนอเนื้อหาใหม่ๆ ด้วยวิธีที่คนอ่านสามารถแสดงความคิดเห็นได้จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของเว็บไซต์ที่กลายเป็นผู้รอดในปัจจุบัน

แล้วความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ก็มาถึง หลังจากเฟซบุ๊คถือกำเนิดในปี 2004 และ ไอโฟนก็กลายเป็นสมาร์ทโฟนยอดนิยมในเวลาอันรวดเร็วพร้อมกับการมาของอินเทอร์เนตความเร็วสูง 3G จนพัฒนามาเป็น 4G ในปัจจุบัน

จากยุคดอทคอม ก็มาถึงยุค “ผู้รู้” ที่ตั้งตัวเป็นศาสดาในฐานะ Influencer โดยมีจำนวนผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย ที่แตกต่างแพลทฟอร์มกันไปอย่าง เฟซบุ๊ค อิสตราแกรม และ ทวิตเตอร์ เป็นตัวเลขการันตีว่ามีความน่าเชื่อถือ และ กลายเป็นผู้มีอิทธิพลในการชี้นำสังคม จนทำให้เกิดความเชื่อหรือวิธีคิดแบบที่เราไม่คาดว่าจะได้เจอในชีวิตนี้ ทั้งในด้านดีและด้านร้าย

ระยะเวลาเพียงสองทศวรรษของการเปลี่ยนแปลง สิ่งทีเห็นอย่างชัดเจนนอกเหนือจากการถือกำเนิดของ Content ยุคใหม่แล้ว คือ จำนวนของผู้รอดจากการไหลบ่าของ “กระแส” ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้เร่ิมต้นเนื้อหาใหม่ๆต่อสังคม และ มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับกระแสที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา

มาถึงบรรทัดนี้ขอทิ้งท้ายด้วยการพูดถึงของ อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารเล่มนึ่งที่พูดถึงงานเขียนในยุคใหม่ที่ชอบหาข้อมูลจาก Google และ Wikipedia เอาไว้ว่า

“ถ้านักเขียนเขียนหนังสือโดยหาข้อมูลใน Google หรือ Wiki มันก็หมายความว่าพวกเขาได้ทำซ้ำข้อมูลที่มีอยู่แล้วต่อให้เอามาเขียนใหม่ยังไงมันก็ไม่ได้หนีไปจากเดิมเป็นการทำซ้ำกันไปเรื่อยๆก็เท่ากับว่าข้อมูลในอินเทอร์เนต ก็จะวนเวียนอยู่แค่นั้นไม่มีอะไรใหม่”

เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ชัดเจนนะคะ เหนืออื่นใดทุกวันนี้เราต่างก็อยู่ในมหาสมุทรข้อมูล ที่รู้สึกได้เลยว่ามีเรื่องที่ถูกทำซ้ำอยู่มากมายจนทำให้คนเสพสื่อทุกวันนี้หลายคนรู้สึกเหนื่อยที่จะติดตาม (หรือคุณผู้อ่านคิดเห็นอย่างไร)

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ