ราชันผู้พลัดแผ่นดิน (เมื่อพม่าเสียเมือง)

สำหรับคนไทยถ้าจะให้นึกภาพเมื่อพม่าต้องกลายเป็นเมืองขึ้นอังกฤษในยุคล่าอาณานิคมว่าเป็นเช่นไร หลายคนคงนึกถึงละครโทรทัศน์เรื่องเพลิงพระนางที่บทละครดัดแปลงมาจากหนังสือ “เที่ยวเมืองพม่า” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหนังสือ “พม่าเสียเมือง” ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

ซึ่งเนื้อหาที่ถูกดัดแปลงนั้น แม้ว่าจะเสริมเติมแต่งเปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง แต่ก็ทำให้หลายคนจำเรื่องราวของพระนางศุภยาลัต และพระเจ้าธีบอ (พระเจ้าสีป่อ)  พระราชาและพระราชินี องค์สุดท้ายของราชวงศ์โกนบอง (ราชวงศ์อลองพญา) ได้

ซึ่งเรื่องราวของหนังสือ “ราชันผู้พลัดแผ่นดิน” ก็เปรียบเสมือนคำตอบ สำหรับคนที่ใคร่รู้ว่า ความจริงที่ปรากฎในละครนั้นมีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของพระเจ้าธีบอ การสังหารหมู่ราชนิกุลตามคำสั่งของพระราชินีศุภยาลัต รวมไปถึงช่วงเวลาที่พระเจ้าธีบอ ถูกอังกฤษเข้ายึดอำนาจ จนทำให้พระองค์กลายเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของแผ่นดินพม่า ขณะเดียวกันต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในดินแดนอื่น หลังจากถูกเนรเทศออกจากเมืองมัณฑะเลย์

เนื้อหาของหนังสือได้บอกเล่าถึงจุดที่สูงที่สุด และจุดที่ต่ำที่สุดของราชวงศ์โกนบอง โดยการให้สัมภาษณ์จากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ และผู้ที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดพระเจ้าธีบอและพระราชินีศุภยาลัต ทั้งที่อยู่ในยุครุ่งเรือง และถูกเนรเทศไปอยู่ยังเมืองรัตนคีรี 

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้ จะไม่ใช่นิยายและเป็นการเล่าเรื่องผ่านการสัมภาษณ์ผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่สุดาห์ ชาห์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ก็ได้ทำให้การเล่าเรื่องของกษัตริย์ที่ต้องตกเป็นผู้แพ้ในยุคล่าอาณานิคมเป็นเรื่องสนุกและชวนอ่าน

ขณะเดียวกัน ก็ยังได้นำเสนอเรื่องจริงที่ทำให้เห็นว่า เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเจ้าธีบอ และราชินีศุภยาลัต บางเรื่องนั้น ก็ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ได้ว่า เป็นความจริงเพียงใด แต่บางเรื่องก็ได้รับการยืนยันว่า เป็นความจริง จากปากคำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่เล่าได้ตรงกัน

ดังเช่นการเล่าถึง ความเป็นราชินีของพระราชินีศุภยาลัต ที่แม้จะประทับอยู่บนเกวียนอย่างไม่สมพระเกียรติ แต่พระองค์ก็ยังคงอำนาจแห่งพระราชินีเอาไว้

พันตรีบราวน์ขี่ม้าตามหลังเกวียนที่ประทับ เขาสังเกตว่าพระนางศุภยาลัตยื่นพระพักตร์ออกมานอกเกวียนและถามหาของบางสิ่ง..พระนางยกพระโอสถมวนให้ดู และทหารอังกฤษรีบเข้ามาจุดไฟถวาย พระนางทรงแย้มสรวลเป็นรางวัลให้เขาและเริ่มพ่นควัน..” 

“ราชันผู้พลัดแผ่นดิน” เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราได้ความเป็นไปในอดีตเมื่อครั้งดินแดนในตะวันออกไกล กลายเป็นเหยื่อของการล่าอาณานิคม และกว่าจะปลดแอกเป็นอิสระได้นั้น ก็ใช้เวลาอย่างยาวนาน และทำให้ “บุคคลไม่ธรรมดา” ถูกสถานการณ์พรากอภิสิทธิ์โดยกำเนิดไป