คำสั้นๆที่เรียกว่า “ลูกน้อง”

ใครก็ไม่รู้นะครับที่บัญญัติคำว่า “ลูกน้อง” ขึ้นมา เล่นเอาทั้งคำว่า “ลูก”กับ“น้อง” มาควบรวมกันเข้าเสียอย่างนั้น

จริงๆความสัมพันธ์ระหว่าง “เจ้านาย” และ “ลูกน้อง” นั้น อาจจะยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับความเป็นผู้นำและวิธีการแสดงออกของเจ้านาย รวมทั้งถ้าเจอลูกน้องที่ไม่ปิดกั้นตัวเองจนเกินไปนักก็คงพอจะพอจูนเข้าหากันได้

มีคนเคยแนะนำผมว่า ระยะห่าง“เจ้านาย”กับ“ลูกน้อง” ควรจะคล้ายกับเวลาเราคบหานักการเมือง ไกลเกินไปก็ไม่ได้ ใกล้เกินไปก็ไม่ดี ต้องพยายามรักษาให้กำลังพอเหมาะ

“เจ้านาย”กับ“ลูกน้อง”หากสนิทเล่นกันได้มากเกินไป ลูกน้องก็อาจจะไม่เชื่อฟัง เล่นหัวไม่เคารพ ห่างเกินไปก็คุยกันไม่รู้เรื่อง ทำงานอะไรก็ไม่เข้าขารู้ใจ

ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านกำลังเจอกับกรณีไหนอยู่ครับ ?

การคัดเลือก “ลูกน้อง” นั้นมีศาสตร์และวิธีการต่างๆมากมายของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ หรือแม้กระทั่งการดูโหงวเฮ้ง

แต่สุดท้ายพวกเรามักจะแซวเล่นกันว่าขึ้นอยู่กับ “กรรม” ใคร “กรรม” มัน ใครเคยพยศกับเจ้านายเก่า หรือดื้อกับพ่อแม่มากๆ มักจะเจอกับลูกน้องที่ชอบสนองคุณ พอปลงถึงจุดได้ ทีนี้ก็ทำใจได้ว่า ขึ้นอยู่กับว่าฟ้าส่งใครมาให้แล้ว 555

บางคนไม่ทราบทำบุญหรือทำกรรมร่วมกันมามากในชาติที่แล้ว ชาตินี้เลยต้องเป็น “เจ้านาย” –“ลูกน้อง” กันนานนับสิบๆก็ยังมี

เป้าหมายสูงสุดของ “เจ้านาย” ในการสอนลูกน้องนั้นคือ ทำให้เขาสามารถทำงานแทนเราได้ ขึ้นมายืนแทนตำแหน่งที่เรายืนอยู่ ถ้าทำได้นั่นคือการบรรลุภารกิจขั้นสูงสุดของความเป็น “เจ้านาย” นัยนั้นว่านอกจาก“ลูกน้อง” แล้ว ยังมีคำว่า “ลูกศิษย์” แฝงอยู่ด้วย

แต่น่าเสียดายที่ “เจ้านาย” บางคนมักจะกลัวลูกน้องเก่งกว่า จนไม่กล้าสอนงานให้หมด หรือแม้กระทั่งเปิดโอกาสให้ตนเองได้ทำงานกับ“ลูกน้อง”เก่งๆเลยตลอดชีวิต

พูดง่ายๆว่าต้องเหนื่อยเองทั้งชาตินั่นแหล่ะครับ

เพราะฉะนั้นจงเปิดใจให้กว้าง มองเขาให้เหมือนเป็นทั้งลูกและน้อง ค่อยๆถ่ายทอดวิชาความรู้รวมทั้งประสบการณ์ในการทำงานที่คุณมี ด้วยความหวังว่าสักวันเขาจะก้าวขึ้นมาเป็นมือเป็นไม้ให้คุณได้

ขอให้โชคดีครับ.