Living the Game – ใครว่าเป็น “เกมเมอร์” มันง่าย?

หลายปีมานี้คุณผู้อ่านคงเคยได้ยินข่าวการแข่งขันกีฬาวีดีโอเกม (หรือเรียกกันเท่ๆว่า eSports) เริ่มถูกบรรจุเข้าสู่การแข่งขันกีฬาระดับทวีปมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ศึก เอเชียน อินดอร์ แอนด์ มาร์เชียล อาร์ต เกมส์ ปี 2013 ที่เกาหลีใต้ ล่าสุดก็เป็น เอเชียน เกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย บรรจุการแข่งวีดีโอเกมชิงเหรียญทองกันเป็นที่เรียบร้อย และมีแนวโน้มจะถูกบรรจุเข้าสู่ โอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่น อีกต่างหาก

ในสายตาคนทั่วไป คงคิดว่าการแข่งขันเล่นวีดีโอเกมนั้นดูจะสบายเสียนี่กระไร เพราะไม่ต้องขยับร่างกายออกแรงเหมือนกีฬาอื่นๆ เปิดทีวี จับจอยเกม ฝึกฝนทักษะ และผสมดวงนิดหน่อยก็ได้แล้ว ไม่เห็นจะยากตรงไหน แต่ความจริงแล้วกว่าที่เกมเมอร์แต่ละคนจะประสบความสำเร็จ สร้างชื่อคว้าเงินรางวัลชนะเลิศกลับบ้านได้ ต้องซ้อมกันอย่างบ้าคลั่งและมีปัญหาชีวิตให้ขบคิดเหมือนกัน

Living the Game (วิถีแห่งเกม) จะทำให้คุณเข้าใจชีวิตของเกมเมอร์เหล่านี้มากขึ้น

สารคดีขนาดยาวภายใต้การดูแลของ ทาคาโอะ โกสุ นำพาคนดูไปรู้จักกับเหล่าเกมเมอร์ฝีมือฉกาจ 5 คน ที่มีดีกรีเป็นถึงแชมป์ระดับโลกมากมายจากการแข่งขันเกมต่อสู้ชื่อดัง Street Fighter พวกเขาเหล่านี้ไต่เต้าขึ้นมาจากการแข่งขันระดับประเทศ สร้างชื่อแก่ตัวเองก่อนยกระดับไปแข่งรายการที่ใหญ่กว่าเดิม แน่นอนว่าอุปสรรคสำคัญคือการเผชิญหน้ากับเหล่าคู่ต่อสู้จากทั่วโลกที่ไม่เคยรู้ไส้รู้พุงกันมาก่อน แถมยังต้องฝึกฝนตัวเอง ก้าวผ่านขีดจำกัด ข้ามกำแพงความสำเร็จเดิมๆไปสู่ฝันที่รออยู่

เสี้ยวหนึ่งของหนังคือการพาคนดูไปสำรวจว่าเหล่าเกมเมอร์ยอดฝีมือ 5 คนนี้ ฝึกฝนตนเองอย่างไรเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นระดับแถวหน้า แต่ประเด็นสำคัญที่เหนือกว่าลุ้นว่าใครจะเป็นแชมป์ คือการตีแผ่ชีวิตจริงของเกมเมอร์กลุ่มนี้ ซึ่งก็ถือเป็นการตอบคำถามให้กับคนภายนอกรับรู้ว่าพวกเกมเมอร์ระดับโปรมีชีวิตความเป็นอยู่กันยังไง สุขสบายหรือยากลำบาก และคำถามสำคัญคือเล่นเกมแล้วหาเลี้ยงชีพได้ไหม?

ซึ่งก็ไม่น่าผิดหวังเมื่อ Living the Game ตอบคำถามที่หลายคนสงสัยได้ครบทุกประเด็น โดยเฉพาะการหากินกับอาชีพนี้ แม้การคว้าแชมป์จะทำให้พวกเขามีเงินทองใช้ มีสปอนเซอร์สนับสนุน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นสักเท่าไหร่ ยกตัวอย่างตัวละครในเรื่องอย่าง “โมโมจิ” เกมเมอร์ระดับโปรที่ออกจากบ้านมาใช้ชีวิตกับแฟนสาวที่โตเกียว เช่าอพาร์ทเมนต์เล็กๆอยู่อย่างแออัด เขายอมรับว่าถึงจะได้เงินรางวัลมาแต่ก็ใช้ฟุ่มเฟือยไม่ได้ เพราะต้องสะสมไว้ใช้ยามแก่เฒ่า และการเป็นเกมเมอร์ก็ไม่ใช่อาชีพที่ยั่งยืนเพราะมีเด็กรุ่นใหม่ฝีมือดีขึ้นมาท้าทายอยู่เสมอ หากเพลี่ยงพล้ำมีสิทธิถูกแซง ถูกเขี่ยตกบัลลังก์ได้ตลอดเวลา

นั่นจึงทำให้เกมเมอร์คนอื่นนอกจาก โมโมจิ ต้องทำงานประจำควบคู่ไปด้วยเพื่อสร้างความมั่นคงแก่ชีวิต อาทิ “เกมเมอร์บี” เกมเมอร์หนุ่มตี๋ที่ทำงานอยู่ในบริษัทก่อสร้างที่ไต้หวัน ทำงานเก็บเงินสร้างครอบครัวกับภรรยา แล้วลงแข่งเกมเป็นงานอดิเรก หรือ “ลุฟฟี” หนุ่มออฟฟิศชาวจีนที่ทำงานอยู่ในบริษัทโฆษณาที่ฝรั่งเศส ก่อนกลับมาฝึกเล่นเกมที่บ้านหลังเลิกงาน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าต่อให้คุณได้รับการยอมรับจากการเป็นแชมป์เล่นเกมขนาดไหน แต่มันก็ไม่อาจเป็นหลักประกันอะไรแก่ชีวิตได้ว่ามันจะยั่งยืนตลอดไป อย่างน้อยหากเส้นทางการเป็นนักแข่งเกมมาถึงทางตัน ก็ยังมีรายได้จากงานประจำมาหล่อเลี้ยงตัวเองกับคนรัก

นอกจากนี้ วิถีชีวิตของเหล่าเกมเมอร์อาชีพ ก็ยังต้องเจอกับปัญหา-ความกดดันสารพัดต่างๆนาๆ เช่นต้องฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง, จดสูตรการเล่นเกมลงสมุดบันทึก, ศึกษาแผนการเล่นจากคู่ต่อสู้, ลับสมองแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า และที่สำคัญกว่านั้น ชนะอย่างเดียวไม่พอ ต้องสร้างเรื่องราวให้เป็นที่พูดถึงเป็นตำนานไปอีกเพื่อให้ทุกคนยอมรับ ยกตัวอย่าง “โมโมจิ” ถึงเขาจะได้เป็นแชมป์โลก แต่ก็แทบไม่เป็นที่จดจำเท่ากับ “ไดโกะ” โคตรเกมเมอร์เบอร์ 1 ของญี่ปุ่น ที่พลิกสถานการณ์ล้มคู่ต่อสู้ด้วยพลังชีวิตของตัวเองที่เหลือแค่ 1% จนเป็นแชมป์โลกและกลายเป็นตำนานไปแล้ว ถึงวันเวลาผ่านไปฝีมือเขาจะเริ่มโรยรา แต่เหตุการณ์ในตำนานเมื่อปี 2004 ก็ยังถูกพูดถึงในหน้าประวัติศาสตร์วงการเกมจนถึงปัจจุบัน

ไม่ว่าคุณจะเป็นเกมเมอร์ตัวยง หรือเป็นเกมเมอร์เที่เล่นเกมเพื่อคลายเครียดจากการทำงาน Living the Game ก็ถือเป็นหนังที่น่าสนใจและน่าชม แม้ประเด็นจะดูหนักหน่วงแต่หนังก็เล่ามันออกมาในแบบที่ผ่อนคลาย สอดแทรกมุกตลกเข้ามาเป็นระยะ ไม่ตึงเครียดเกินไป ดูแล้วคุณจะเข้าใจเหล่าเกมเมอร์ที่ซุ่มซ้อมเล่นเกมอย่างบ้าคลั่งเพื่อก้าวขึ้นเป็นสุดยอดของวงการเกมอีกด้วย

แล้วคุณจะรู้ว่าเป็นเกมเมอร์มันก็เหนื่อยนะ (โว้ย)