การเดินทาง 23 ปีของหอศิลป์ฯ กรุงเทพฯจากนี้จะเป็นเช่นไร

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือที่เรียกันย่อๆว่า หอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ กำลังจะมีอายุครบหนึ่งทศวรรษในเดือนกรกฎาคม 2561 (หลังเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2551) การเดินทางนับตั้งแต่วันแรกของการสร้าง หอศิลปฯแห่งนี้บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ บริเวณสี่แยกปทุมวันทำเลทอง กทม. ภายใต้แนวคิดเพื่อเป็นแหล่งแสวงหาความรู้ ความงาม ความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะ เป็นทางเลือกของการพักผ่อนที่นอกเหนือไปจากการใช้เวลาในศูนย์การค้า และเป็นสิ่งที่จะดึงเยาวชนออกจากสิ่งยั่วยุแบบทุนนิยม

จากวันแรกที่เกิดแนวคิด จนถึงวันนี้หอศิลปฯยังคงยืนตระหง่านอยู่บนสี่แยกปทุมวัน เป็นการยืนอยู่ท่ามกลางความวูบไหวของผู้ที่เป็นเจ้าของพื้นที่อย่าง กรุงเทพมหานคร ที่ต้องการทำให้พื้นที่ภายใต้ความรับผิดชอบให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่กลุ่มศิลปิน อาจารย์ นักศึกษาและประชาชน ต่างมองว่าความต้องการของกรุงเทพมหานครนั้นจะทำให้แนวคิดในการสร้าง หอศิลป์ฯ ขึ้นมานั้นบิดเบี้ยวไป เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเรามาย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของหอศิลป์ฯกับการเดินทางมาจนถึงปัจจุบันว่า การดำรงอยู่ของศิลปะบนพื้นที่ใจกลางเมืองนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมเพียงใด

2538 เปลี่ยนจากห้องสมุดประชาชนมาเป็นหอศิลป์ฯ

พื้นที่ สองไร่เศษบนหัวมุมถนนบริเวณสี่แยกปทุมวันในอดีตนั้นคือที่ตั้งของห้องสมุดประชาชน ที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปในการหาความรู้ รวมไปถึงเป็นสถานที่ให้นิสิต นักศึกษาได้เข้ามาใช้บริการจนกระทั่งในปี 2538 ความทรุดโทรมของอาคารทำให้ กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ตั้งใจจะปรับปรุงใหม่ และในเวลานั้นได้มี กลุ่มศิลปิน อาจารย์ นักศึกษาและประชาชน ที่มองว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใจกลางเมืองท่ามกลางห้างสรรพสินค้าน่าจะมีการปรับปรุงให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นหอศิลป์ฯ ด้วยศักยภาพของทำเล ที่น่าจะเป็นทางเลือกในการชื่นชมงานศิลปะของประชาชนทั่วไป และแนวคิดดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจาก ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าฯ กทม. มีมติจัดสร้างหอศิลป์ ณ สี่แยกปทุมวัน

2544 เปลี่ยนผู้ว่าฯหอศิลป์ฯเกือบเป็นห้างสรรพสินค้า

หลังจากที่นายพิจิตต รัตตกุล พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ในปี 2543 ผู้ว่าฯกทม. คนใหม่นายสมัคร สุนทรเวช ได้สั่งให้ระงับโครงการสร้างหอศิลป์ฯตามโครงการเก่าทั้งที่ได้ผู้ชนะในการออกแบบและมีการวางศิลาฤกษ์ไปแล้ว พร้อมกับให้มีการเปลี่ยนโครงการหอศิลป์ฯใหม่ทั้งหมดให้กลายเป็นหอศิลป์ฯที่อยู่ภายในห้างสรรพสินค้า พร้อมที่จอดรถ

และทันทีที่มีคำสั่งยกเลิกโครงการเก่าและคลอดโครงการใหม่ออกมา กลุ่มศิลปิน อาจารย์และนักศึกษาศิลปะออกมาคัดค้านการยกเลิกโครงการพร้อมกับรณรงค์ภายใต้แนวคิด “ฉันเรียกร้องหอศิลป์ ไม่เอาศูนย์การค้า” ขึ้นมาซึ่งมีการแสดงจุดยืนในการคัดค้านกันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กทม. พยายามจะเปิดประมูลโครงการในรูปแบบใหม่ แต่ปรากฎว่าไม่มีผู้ยื่นซองประมูล และทำให้โครงการนั้นค้างเติ่งจนกระทั่งนายสมัคร สุนทรเวช หมดวาระในการทำหน้าที่ผู้ว่าฯกทม.ไป

2547 ผู้ว่าฯอภิรักษ์ให้คงรูปแบบโครงการเดิมเอาไว้

หลังจากนายสมัคร สุนทรเวช หมดวาระในฐานะผู้ว่าฯกทม.ไป นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่แทนในปี 2547 ในฐานะผู้ว่าฯกทม คนใหม่นายอภิรักษ์ได้เข้ามาพูดคุยและหาแนวทางร่วมกับ เครือข่ายศิลปิน และ ประชาชน จนในที่สุดได้มีคำสั่งใหม่ให้คงการก่อสร้างหอศิลป์ฯ ในรูปแบบเดิมเอาไว้ ซึ่งในเวลาต่อมานายอภิรักษ์ ได้ดำรงตำแหน่ง กรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน

2551 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดอย่างเป็นทางการ

จากแนวคิดแรกในการหอศิลป์ฯ เมื่อปี 2538 หอศิลป์ฯกรุงเทพฯ ใช้เวลาถึง 13 ปีจึงได้สร้างแล้วเสร็จ โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในปี 2551 และดำเนินการบริหารจัดการโดย มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ในปี 2554 ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างมูลนิธิฯ และ กทม. โดยทางมูลนิธิฯ มีสัญญาบริหารหอศิลป์เป็นเวลา 10 ปี และจะหมดสัญญาในปี 2564

ทั้งนี้ประธานมูลนิธิฯ นับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันนั้น ผู้ทำหน้าที่ประธานมูลนิธิฯคือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.ผู้ทำให้เกิดหอศิลป์แห่งนี้ขึ้นมา ขณะที่คณะกรรมการมูลนิธิฯ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชน ขณะที่ คณะกรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นับจากปี 2559 จนถึงปัจจุบันนั้น เป็นกลุ่มบริหารหอศิลป์ฯ ที่ถูกเลือกโดยมูลนิธิฯ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นอาจารย์ และ ศิลปิน ที่มีชื่อเสียง ขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหอศิลป์ฯคนปัจจุบันคือ ผศ. ปวิตร มหาสารินันทน์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาศิลปการละคร

2561 หอศิลป์ฯกลายเป็นพื้นที่ที่ กทม.อยากเข้ามาบริหารอีกครั้ง

อีกเพียงไม่ถึง 2 เดือน หอศิลป์ฯ ก็จะมีอายุครบ 10 ปีนับจากวันที่เปิดอย่างเป็นทางการ ข่าวเรื่องความต้องการเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่เงียบหายไปพักใหญ่ ก่อนจะมาร้อนแรงมากขึ้นเมื่อ ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง นำเสนอแนวคิดให้สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เป็นผู้บริหารจัดการดูแลหอศิลป์ แทนที่มูลนิธิฯ จากเหตุผลเรื่องประสิทธิภาพการสร้างแหล่งเรียนรู้ให้เยาวชนและประชาชนโดยแนวคิดแบบ Co-working space

ซึ่งหลังจากที่เรื่องดังกล่าวถูกขยายออกไปในวงกว้าง กระแสการต่อต้านจาก ศิลปิน อาจารย์ นักศึกษาและประชาชน ได้แสดงจุดยืนกันว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวและไม่เชือว่า กทม.จะทำได้ดีกว่า มูลนิธิฯ ที่บริหารจัดการอยู่ในปัจจุบัน เหนืออื่นใด มูลนิธิฯ ยังอยู่ในสัญญาที่จะต้องบริหารไปจนถึงปี 2564 จนทำให้เกิดการลงชื่อร่วมต่อต้านในเว็บไซต์ Change.org ซึ่งมีผู้เข้ามาร่วมลงชื่อนับหมื่นราย

และในที่สุดวันที่ 14 พฤษภาคมก่อนที่ทางกทม. จะเปิดแถลงข่าวในเรื่องดังกล่าว ทางผู้ว่าฯกทม พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ก็ยอมถอยจากแนวคิดดังกล่าว พร้อมกับโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค ส่วนตัวโดยอ้างถึงประโยค ที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้รักงานศิลปะว่า “Ars longa vita brevis” ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้แปลเอาไว้ว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” และข้อความต่อจากนั้น ผู้ว่าฯกทม. ได้ระบุว่า “แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่หอศิลป์ฯนั้นไม่ได้ต้องการทำลายสถานที่แสดงศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศเพียงแต่ต้องการพัฒนาสถานที่แห่งนี้ให้ได้ใช้ประโยชน์สูงสุด” และหลังจากนั้นความเคลื่อนไหวของ กทม. ก็เงียบหายไป

จากนี้เหลือเวลาอีก 3 ปีที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะหมดสัญญาจากการดูแลของ มูลนิธิฯ ถึงเวลานั้นอาจเกิดแรงกระเพื่อมอีกครั้ง กับหอศิลป์ฯ ที่ ต้องสู้กับกระแสของทุนนิยมที่กำลังพัดให้สังคมไปในทิศทางนิยมวัตถุ และเมื่อเวลานั้นมาถึงแม้ “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” จะเป็นเรื่องจริง ขณะที่เมืองไทยมีศิลปินที่ผลิตงานออกมาอยู่เป็นจำนวนมาก หากแต่เราต้องยอมรับความจริงว่าสิ่งที่ยังขาดอยู่คือคนดูและผู้ที่สนับสนุนงานศิลปะที่ต้องรวมตัวให้เห็นว่ามีอยู่จริงเพราะพวกเขาคือคนกลุ่มสำคัญที่จะทำให้ หอศิลป์ฯ กลายเป็นหอศิลป์ฯที่สมบูรณ์ และทำให้สังคมไม่บิดเบี้ยวและผิดรูปดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน