เทคนิค”ภาพพิมพ์”ที่คนไม่ค่อยรู้จัก แต่ใกล้ตัวกว่าที่คิด : แกะไม้ ซิลค์สกรีน

Silk Screen เทคนิคสำหรับ พิมพ์ลายลงบนเสื้อ (ภาพจาก Pixabay)

คำว่า “ภาพพิมพ์” บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินเลยด้วยซ้ำ  แต่หารู้ไม่ว่ามันเป็นหนึ่งในเทคนิคการสร้างงานศิลปะที่มีมาตั้งแต่ยุคโครมันยองเลยทีเดียว!  ใครที่พอจะเคยเห็นภาพเขียนบนฝาผนังถ้ำของมนุษย์ยุคหินก็คงจะนึกภาพออก  การนำมือจุ่มสีแดงแล้วแปะบนผนังถ้ำนั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของเทคนิค “ภาพพิมพ์”

ถึงแม้จะไม่ค่อยฮิตและไม่ค่อยคุ้นหู แต่การทำภาพพิมพ์นั้นถูกพัฒนาเรื่อยมา และอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด อย่างเช่นการนำเหรียญบาทมาฝนให้เป็นรอยแบบที่ชอบทำกันตอนเด็กๆ นั่นก็เรียกว่าภาพพิมพ์  หรือการสกรีนลายเสื้อยืดแบบนั้นก็เรียกว่าภาพพิมพ์

ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ภาพพิมพ์ ก็คือการที่เรามีแม่พิมพ์หนึ่งอัน(หรือมากกว่า) ในการสร้างงานศิลปะ จะใช้ได้ครั้งเดียว หรือใช้ได้ถาวรก็ได้ และพิมพ์โดยสีหรือหมึกทาบลงไปบนกระดาษ ผ้า อะไรก็ได้ที่ต้องการ  ซึ่งข้อดีของมันก็คือ เราสามารถสร้างผลงานที่เหมือนเดิมกี่ชิ้นก็ได้ เพราะเรามีแม่พิมพ์  มักจะนิยมใช้กันในการทำอุตสาหกรรม หรือการทำศิลปะแบบการค้า

แต่ศิลปินที่เลือกจะทำภาพพิมพ์เป็นเทคนิคหลักในชีวิตเลยก็มีเยอะแยะ  อย่างเช่น แอนดี้ วอร์ฮอล์ ที่รู้จักกันดี สามารถสร้างงานที่เหมือนกันได้หลายสิบชิ้นโดยไม่ใช้เครื่องจักร แต่ใช้แม่พิมพ์  ซึ่งแม่พิมพ์นั้นจะเป็นอะไรก็ได้ ไม้ กระดาษ โลหะ อลูมิเนียม ทองแดง ยางลบ ฯลฯ  แม้แต่ใบไม้ ก็สามารถเป็นแม่พิมพ์ได้

Woodcut หรือ ภาพพิมพ์แกะไม้ 

น่าจะเป็นเทคนิคที่คนได้ยินกันบ่อยพอสมควร  ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เองก็ยังเลือกเป็นเทคนิคแรกในการสอนเพราะมีขั้นตอน ความซับซ้อนน้อยที่สุด

นั่นคือการใช้เครื่องมือแกะไม้แกะลงบนแผ่นกระดานเรียบ ซึ่งส่วนที่แกะออกคือส่วนที่เราไม่ต้องการ  และแกะให้เหลือแต่ลวดลายที่ต้องการ  จากนั้นก็กลิ้งสีลงไป แล้วก็พิมพ์ลงบนกระดาษ  ถึงจะได้รูปออกมา  ศิลปินบางคนเองเลือกที่จะใช้กระดานที่แกะเป็นงานศิลปะชิ้นนึงเลย ก็คือแกะแล้วโชว์แผ่นไม้ไปเลย  หรือบ้างก็เลือกโชว์ทั้งสองอย่าง

เครื่องมือแกะไม้ หาซื้อได้ทั่วไป (ภาพจาก Sakura)

ภาพพิมพ์แกะไม้ถูกพัฒนาและดัดแปลงจนสร้างรายได้ให้หลายๆ คนได้ เช่น การแกะยางลบ อย่างที่เคยได้ยินว่าเริ่มฮิตประมาณ3-4ปีที่ผ่านมานี้ หลักการเหมือนการแกะไม้ทุกอย่าง แค่เปลี่ยนจากไม้เป็นยางลบ  หาง่ายขึ้นและทำง่ายขึ้น สามารถใช้หมึกที่เอาไว้ปั๊มตัวปั๊มพิมพ์แทนได้เลย  เหมือนเป็นการทำตัวปั๊มด้วยตัวเองนั่นแหละ

ภาพจาก Tonkit360

ตัวอย่างผลงานภาพพิมพ์ ภาพแรกเป็นการแกะไม้และพิมพ์หลายๆ รอบ หลายสี  ส่วนภาพที่สองเป็นการนำสีมาปาดบนกระดานไม้เรียบ เป็นรูปที่ต้องการ แล้วก็พิมพ์ลงกระดาษ

Silk Screen หรือ ภาพพิมพ์ตะแกรงไหม

อันนี้คงชินหูกันหน่อย เพราะมันคือเทคนิคที่เอาไว้พิมพ์ลายเสื้อนั่นแหละ  (แต่ก็หายากเหมือนกันที่จะพิมพ์ด้วยมือ เพราะส่วนใหญ่พิมพ์ในปริมาณมาก ใช้เครื่องจักรไปเลยคุ้มกว่า)

อุปกรณ์ก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากบล็อคพิมพ์ วานิชดำสำหรับวาดรูปลงบล็อค (โดยจะระบายส่วนที่ไม่ต้องการ เว้นช่องที่ต้องการให้เป็นลายเอาไว้เป็นช่องให้สีลงไปสู่กระดาษ หรือผ้า)  ไม้ปาดสี สีสำหรับสกรีน(จะเป็นสีที่แห้งเร็วมาก) แล้วก็กระดาษหรือผ้า สำหรับคนที่อยากทำเสื้อแบบแฮนเมดก็จะไม่ยากอย่างที่คิด แต่ต้องมีลองผิดลองถูกกันหน่อย

สำหรับซิลค์สกรีนนั้นเรียกว่าเป็นเทคนิคภาพพิมพ์ของโปรดของ แอนดี้ วอร์ฮอล์ เจ้าพ่อป๊อปอาร์ตเลยก็ว่าได้ เพราะถ้ามีการวางแผน มีกระบวนการดีๆ จะมีข้อผิดพลาดน้อย และสร้างงานได้เยอะตามที่ต้องการ ผลงานที่เราเห็นเรียงๆ กันเยอะ ไม่ว่าจะเป็นกระป๋องซุป หรือมาริลีน มอนโร ก็เป็นผลงานซิลค์สกรีนทั้งนั้น

ภาพจาก hamiltonselway.com

สำหรับพาร์ทนี้ขอจบที่สองเทคนิคที่ยังเข้าใจง่ายอยู่ เพราะยังมีเทคนิคภาพพิมพ์ที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และวุ่นวายกว่านี้อีกมาก ด้วยการมีกรดและสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการ  นับไปนับมามีขั้นตอนเป็น 10-20 ข้อเลยทีเดียว