เวทีประกวดร้องเพลงในไทย : ชนะแล้วไปไหน?

หากสำรวจวงการโทรทัศน์ในยุคนี้อย่างจริงจัง เชื่อว่าคงทำให้ทุกท่านตกอกตกใจ กับรายการประกวดร้องเพลงจำนวนมาก ที่ผุดขึ้นมาบนหน้าจอราวกับดอกเห็ด เรียกว่าจะกดรีโมทไปช่องไหน ก็ต้องเห็นผ่านตา ปรากฎการณ์นี้สะท้อนให้เห็นทิศทางของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ ที่ชอบการประกวดประชันขันแข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโชว์ร้องโชว์เต้นบนเวที เดิมทีรายการเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเฟ้นหานักร้องหน้าใหม่ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน มาประดับวงการเพลง

ย้อนกลับไปราว 10 ปีก่อน เริ่มมีรายการประกวดร้องเพลงที่เก็บตัวผู้เข้าประกวดและผลิตรายการอย่างจริงจังปรากฎขึ้นบนหน้าจอโทรทัศน์ มีรางวัลเป็นเงินและเส้นทางสู่การเป็นศิลปินค่ายดังต่างๆ ส่งผลให้มีวัยรุ่นมากมายสมัครเข้าล่าฝัน คว้าดาวกันเป็นจำนวนมาก รายการร้องเพลงเหล่านี้ดำเนินต่อไปอีกเป็น 10 รุ่น จนพบว่าศิลปินล้นตลาด ทั้งเรตติ้งก็เริ่มซบเซา แม้จะขายดราม่าอย่างไรก็ดึงคนดูไว้ไม่อยู่ ส่งผลให้การประกวดร้องเพลงลาจอไปช่วงหนึ่ง แต่ก็เรียกกระแสได้อีกครั้งจากรายการประกวดร้องเพลงรูปแบบใหม่ที่ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ โดยจุดเด่นเป็นเรื่องของการคัดเลือกผ่านเสียงร้อง ไม่มีเรื่องหน้าตา หรือเรื่องดราม่าเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่าช่วง 5 ปีให้หลังมานี้ วงการโทรทัศน์ไทยซื้อลิขสิทธิ์รายการประเภทแข่งขันร้องเพลงจากต่างประเทศเป็นว่าเล่น เพื่อดึงกระแสและเรียกเรตติ้ง บางรายการรุ่งบางรายการร่วง เป็นเรื่องของวงการโทรทัศน์ที่ไหลไปตามความต้องการของผู้ชมหน้าจอทีวี

แล้วเป็นปัญหาอย่างไร มีใครเดือดร้อน?

นอกจากผู้ชมกลุ่มหนึ่งที่สุดแสนจะเอียนกับรายการประเภทร้องเพลงแล้ว ผลกรรมก็ไปตกอยู่ที่ศิลปินหน้าใหม่ ที่ไม่เคยข้ามความหน้าใหม่มาเป็นศิลปินหน้าเก่าและมีผลงานต่อเนื่องได้เลย เนื่องจากการแข่งขันสูง และผู้ชนะ หรือผู้เข้าประกวดต่างๆ ก็มีช่วงเวลาโด่งดันสั้นมาก สั้นเท่ากับช่วงเวลาออนแอร์ของรายการในแต่ละ season เพราะเมื่อแต่ละเวทีรู้ว่าใครคือผู้ชนะแล้ว สปอร์ตไลท์ก็จะเฟดลงทันที พร้อมๆ กับที่ผู้เข้าประกวดก็จะได้เปลี่ยนนามสกุลตามชื่อเวทีที่ไปประกวด

ประกวดชนะแล้วไปไหน?

หลายคนกลับไปประกอบอาชีพเดิม หลายคนยังคงตามฝันผ่านเวทีประกวดอื่นๆ ต่อไป หลายคนมีงานร้องเพลงตามสถานบันเทิงเยอะขึ้น ได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น บางคนโชคดีหน่อยที่ถึงแม้จะไม่ได้เข้ารอบลึกๆ แต่สไตล์และเสียงร้องเข้าทางแมวมอง ส่งผลให้มีงานในวงการบันเทิงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเป็นผู้ชนะในรายการประกวดร้องเพลงเหล่านี้ ไม่สามารถการันตีว่าจะเป็นเส้นทางที่พาทุกคนไปสู่ฝันได้เลย มากที่สุดเวทีเหล่านี้ทำได้เพียง เป็นพื้นที่ให้แมวมองในวงการบันเทิง ได้คัดเลือกเด็กไปปั้นต่อ และน้อยมากที่ศิลปินหน้าใหม่เหล่านี้ จะได้ย่ำเดินในวงการเพลงตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก

ส่วนคนที่ได้รับประโยชน์จากการขายฝันไปเต็มๆ คงหนีไม่พ้นบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ต่างๆ ที่ขยันเรียกเรตติ้งผ่านรายการประกวดร้องเพลงแบบนี้ต่อไป โดยไม่สนว่าจะผลิตศิลปินหน้าใหม่มาเพื่อไร้ที่ยืนในวงการเพลงอีกสักกี่ร้อยคน