“มงเตสกิเยอ”ในมุมมองเด็กรัฐศาสตร์


เนื่องด้วยภารกิจที่ต้องออกต่างจังหวัดในช่วงต้นสัปดาห์หน้า ทำให้ผมต้องเรียนขออนุญาตท่าน บรรณาธิการ เขียนบทความของผมปาดหน้าคอลัมนิสต์เจ้าอื่นๆเสียตั้งแต่ปลายวีคนี้เลย

อันเนื่องมาจากทวีตอันโด่งดังของท่านอดีตนายกฯบ้านเรา ที่เอ่ยอ้างถึงประโยคเด็ดของ “มองเตสกิเยอ” นักคิดชื่อดังชาวฝรั่งเศสในสมัยอดีตกาลนานนมราวสมัยศตวรรษที่ 17 กระตุ้นต่อมความทรงจำทำให้ผมและเพื่อนๆอีกหลายคน ย้อนนึกไปถึงสมัยเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯใหม่ๆครับ สมัยนั้นเป็น “เฟรชชี่” เข้าปีหนึ่ง ต้องเรียนภาควิชาพื้นฐานการเมืองการปกครองรวมๆกันหมด ยังไม่มีการแยกหรือเลือกเอกลงไปเป็น การปกครอง ความสัมพันธ์ต่างประเทศ หรือบริหารรัฐกิจ เหมือนสมัยนี้

ช่วงต้นๆนี่แหล่ะครับที่เด็กอย่างพวกเราจะต้องทำความรู้จักกับนักคิด นักทฤษฎี นักปรัชญาทางการเมืองการปกครองอย่าง อริสโตเติล, เพลโต้ หรือ “มงเตสกิเยอ” นี่แหล่ะครับ เหมือนกับที่เด็กเศรษฐศาสตร์ต้องรู้จักทฤษฎีตลาดเสรีของ อดัม สมิธ อย่างไรอย่างนั้น

บรรดาพวกผมที่เป็นเด็กหลังห้อง พอเรียนถึงช่วงปรัชญาของนักคิดพวกนี้ทีไร ต้องหันมามองหน้ากันเพื่อเช็คสภาพว่าใครหลับบ้างวะ บางครั้งก็แอบกระซิบลองใจเพื่อนว่าจะอยู่จนครบคาบเรียนดีหรือไม่ เพราะตอนนั้นพวกเราห่วงทฤษฎี “โททัลฟุตบอล” ของ ไรนุส มิเชล หรือ แนวคิดแบบ “My Way or Highway” ของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน มากกว่า 555

แต่พอเรียนไปนานๆเข้าก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญ ไม่น่าเชื่อว่าปรัชญาของพวกนักคิดเหล่านี้ผ่านมาหลายร้อยปี ก็ยังเป็นครูให้กับมนุษย์ทุกผู้ได้

อย่าง “มงเตสกิเยอ” เองนั้น เด่นในทฤษฎีเรื่อง “การแบ่งแยกอำนาจ” อำนาจที่ว่านั้นหมายถึงอำนาจในการปกครองประเทศ ซึ่งโดยหลักแล้วจะแบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายคือ

1 ฝ่ายบริหาร

ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ผู้นำในการปกครอง คณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ควบคุมกำหนดนโยบายให้ราชการไปปฏิบัติงานพัฒนาประเทศ

2 ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภา

มีหน้าที่ออกกฎหมายหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมทั้งตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล โดยมีสมาชิกสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้ทำหน้าที่ จะมีสภาบนมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเสริมด้วยนั้น อันนี้ก็แล้วแต่รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ

3 ฝ่ายตุลาการหรือศาล

คือฝ่ายที่ดูแลการบังคับใช้กฎหมาย ตัดสินและควบคุมคดีต่างๆให้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรม

ถือว่าเป็น 3 เสาหลัก หรือเปรียบเป็นปอด สมองและหัวใจในการบริหารประเทศก็ว่าได้ หลักของ “มงเตสกิเยอ” นั้น อำนาจทั้ง 3 ต้องมีการตรวจสอบกันได้ ถ่วงดุล คานอำนาจกัน ภาษาบ้านๆเรียกว่าห้าม “เกี๊ยเซี้ย” ไม่งั้นบ้านเมืองอาจ “ฉิบหาย”

ประเทศที่ใช้หลักการนี้เห็นชัดก็คือสหรัฐอเมริกา ส่วนบ้านเรานั้นฝ่ายบริหารดูจะล้ำหน้าไปกว่าอีกสองเสาหลักในการปกครอง

ทฤษฎี “การแบ่งแยกอำนาจ” จัดว่าเป็นแนวความคิดที่ทันสมัยแถมใช้ในการปฏิบัติจริงได้จนทุกวันนี้ มากกว่าเป็นเพียงปรัชญาลอยๆ จึงเป็นสิ่งที่เด็กรัฐศาสตร์ทุกคนให้ความสำคัญและจดจำได้ไม่ลืม.